พระราชกรณียกิจด้านศาสนา

พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นพุทธมามกะและเป็นอัครศาสนูปถัมภก ประชาชนมีสิทธิและเสรี ในการนับถือศาสนา ตามที่ตนเชื่อและศรัทธา

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงตระหนักว่า ศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของมนุษย์มิให้ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่เป็นความชั่ว และเป็นแนวทางให้มนุษย์เลือกกระทำแต่ความดี จึงทรงตระหนักถึงความสำคัญในการอุปถัมภ์ศาสนา นอกจากจะทรงเป็นพุทธศาสนิกชนที่ปฏิบัติพระราชกรณียกิจทางศาสนาโดยสม่ำเสมอแล้ว

ยังทรงทะนุบำรุงศาสนาต่าง ๆ ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์ฮินดู และซิกข์ เพราะทรงถือว่าทุกศาสนาต่างก็มีความสำคัญในฐานะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ของประชาชนเช่นเดียวกัน ดังนั้น คราวใดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปในงานพระราชพิธีหรือทรงประกอบพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับศาสนา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มักจะโดยเสด็จเสมอไม่ว่าจะเป็นพิธีของศานาใด บางครั้งก็เสด็จพระราชดำเนินโดยลำพังพระองค์เอง ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้วยความเคารพในประเพณีของศาสนานั้น ๆ อย่างดียิ่ง

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ด้วยทรงรับการอบรมพื้นฐานความรู้เรื่องศาสนามาจากพระบิดาพระมารดา คือ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ และหม่อมหลวงบัว กิติยากร ทรงเป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัดทรงเคารพนอบน้อมในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ทรงบำเพ็ญกุศลทาง เช่น ทรงบาตร ทรงเก็บดอกไม้มาบูชาพระ ทรงสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยได้ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ มีน้ำพระราชหฤทัยเอื้อเฟื้อเผื้อแผ่ ทรงยึดมั่นในสัจจะ อยู่ในโอวาทครูอาจารย์ พระบิดามารดา

เมื่อเข้าสู่พระราชพิธีราชาภิเษกสมรสและทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถแล้ว ได้ทรงศึกษาและปฏิบัติตามหลักธรรมในพระบวรพุทธศาสนามากขึ้น ทรงยกย่องเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นผู้พระราชทานความรู้แก่พระองค์ในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านพระพุทธศาสนา ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปทรงนมัสการและสนทนาธรรมกับพระเถรานุเถระอยู่เสมอ ทรงใช้หลักธรรมเป็นแนวปฏิบัติทั้งในส่วนพระองค์และในฐานะสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่กลุ่มนักข่าวหญิง เมื่อพุทธศักราช 2524 ว่า

"....ฉันรู้สึกว่า ชีวิตของฉันทั้งโดยฐานะส่วนตัวและในฐานะที่เป็นพระราชินี ถ้าเผื่อไม่ได้พระพุทธศาสนา ก็คงจะแข็งแรงอยู่ไม่ได้อย่างนี้..."

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพยายามทุกวิถีทางและทุกโอกาสที่จะทรงแนะนำให้พสกนิกรเห็นว่า ความเจริญทางด้านจิตใจเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญที่สุด ไม่น้อยไปกว่าความเจริญทางด้านวัตถุ เพราะจะช่วยให้ชีวิตมนุษย์สมบูรณ์และมีค่า ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่นักศึกษาพยาบาล ณ หอประชุมราชแพทยาลัย โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พุทธศักราช 2510 ความตอนหนึ่งว่า

“ความเจริญทางด้านวัตถุจำต้องควบคู่ไปกับความเจริญทางด้านจิตใจจะทำให้ชีวิต มนุษย์สมบูรณ์และมีค่า บุคคลแม้จะเป็นผู้ที่ขาดความมั่นคงทางวัตถุ แต่ร่ำรวยในด้านคุณธรรม มีความรักและห่วงใยในเพื่อนมนุษย์ จึงนับว่าเป็นผู้ที่พระพุทธศาสนายกย่องแล้วว่าเจริญแท้...”

นอกจากทรงได้รับความรู้ทางธรรมะจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ยังทรงศึกษาธรรม ด้วยการทรงสนทนาธรรมกับพระเถระและภิกษุที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ในยามที่เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปทรงเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่าง ๆ หากทรงมีโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมวัดวาอารามใด ก็จะมีพระราชศรัทธาถวายเงินบำรุงวัด รวมทั้งทรงสนทนาธรรมกับพระภิกษุสงฆ์ที่วัดเหล่านั้น นอกจากนี้ ยังโปรดให้ข้าราชบริพารจัดซื้อหนังสือธรรมะ หนังสือเกี่ยวกับพุทธประวัติ ประวัติพระอัครสาวก และพระอริยสงฆ์มาถวาย

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงยึดในพรหมวิหาร 4 ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ทรงพระเมตตากรุณาแก่ราษฎรทั่วไป โดยเฉพาะคนป่วย คนชรา คนพิการ คนปัญญาอ่อน และเด็ก ทรงปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข โปรดการทำบุญหรือการสังเคราะห์มาแต่ทรงพระเยาว์ทรงดำรงตำแหน่งประธาน กิตติมศักดิ์ของสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ทรงตั้ง "กองทุนเมตตา" ขึ้นโดยพระราชทรัพย์ริเริ่ม เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างรุนแรงและกระทบกับสถานภาพทางครอบครัว มีน้ำพระราชหฤทัยเมตตาห่วงใยบุคคลผู้พิการทั้งทางร่างกายและสมอง มีพระราชดำริว่า ผู้พิการควรได้รับความเอาใจใส่ดูแลได้รับการบำบัดรักษาเมื่อป่วยเจ็บเช่น เดียวกันกับบุคคลทั่วไป และควรได้รับการอบรมให้มีอาชีพตามความถนัด เพื่อจะได้ยังประโยชน์ต่อตนเองและสังคมได้นอกจากนี้ยังทรงไว้ซึ่งมุทิตาธรรม มีพระราชหฤทัยโสมนัสในความสุข ความเจริญและความสำเร็จของอาณาประชาราษฏร์ และทรงส่งเสริมพระราชทานกำลังใจทำความดียิ่งขึ้น ทรงรักษาอุเบกขาธรรมวางพระองค์เป็นกลางไม่ทรงหวาดเกรงภยันตรายต่าง ๆ เมื่อต้องเสด็จพระราชดำเนินไปในถิ่นทุรกันดารเพื่อเยี่ยมเยียนราษฎร ทรงยึดมั่นในเบญจศีล เบญจธรรม อันเป็นธรรมะขั้นพื้นฐานที่สอนเว้นการทำชั่วประพฤติดีปฏิบัติชอบ มีพระราชศรัทธาอุปถัมภ์บำรุงพุทธศาสนา นอกจากการบำรุงด้วยพระราชทรัพย์แล้ว ยังทรงช่วยเผยแผ่ธรรมะด้วยวิธีการหลายหลาก เช่น พระราชทานเทปและหนังสือธรรมะแก่ผู้อยู่ในความทุกข์หรือเจ็บป่วย หรือพระราชทานไปยังโรงเรียนเพื่อเป็นการเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์แก่เยาวชน

นอกจากนี้ ยังทรงอุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์หลายด้าน เช่น ทรงถวายปัจจัยแด่พระเถระชั้นผู้ใหญ่ และพระเถระที่ทรงรู้จักเป็นประจำทุกเดือน ทรงอนุเคราะห์พระภิกษุสงฆ์ที่อาพาธ ทรงถวายปัจจัยเป็นค่ารักษาพยาบาล หรือพระราชทานทรัพย์แก่โรงพยาบาลเป็นทุนในการบริการ และอำนวยความสะดวกแก่พระสงฆ์ที่มารับการรักษา ตลอดจนมีพระราชเสาวนีย์ให้จัดภัตตาหารไปถวายพระเถระที่อาพาธเป็นพิเศษ เป็นต้น

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับสถาบันแม่ชีไทยไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วยทรงเล็งเห็นว่าสถาบันแม่ชีไทยเป็นสถาบันของสตรีกลุ่มใหญ่ที่มุ่งรักษา ศีล บำเพ็ญธรรม และช่วยทำงานให้แก่สังคมในด้านการเผยแพร่พระพุทธศาสนา เพื่อประโยชน์สุขแก่คนหมู่มาก อีกทั้งทรงรับ "มูลนิธิส่งเสริมพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์" ของสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัยไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เพื่อเป็นการส่งเสริมการสอนศีลธรรมแก่เยาวชน

นอกจากจะทรงเป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัดแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ยังทรงอุปถัมภ์บำรุงศาสนาอื่นในประเทศด้วย เพราะมีพระราชศรัทธาว่า ทุกศาสนาล้วนมีหลักธรรมที่สอนให้คนประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดีงามเช่นเดียวกัน มักจะเสด็จพระราชดำเนินหรือโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปในงานพิธี ของศาสนาต่าง ๆ โดยมิทรงเลือกว่าเป็นงานพิธีของศาสนาใด ดังเช่นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พุทธศักราช 2527 ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวออกรับเสด็จพระสันตปาปา จอนห์น ปอล ที่ 2 ในโอกาสเสด็จเยือนประเทศไทย ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทด้วยความเคารพยกย่องอย่างสมพระเกียรติ ยังความชื่นชมยินดีมาสู่คริสต์ศาสนิกชนในประเทศไทยเป็นอันมาก

เมื่อเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปเยี่ยมราษฎรในภาคใต้ ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีขนบธรรมเนียมแตกต่างออกไปตามหลักปฏิบัติของศาสนา ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรเหล่านั้นโดยมิได้เว้น ด้วยทรงถือว่าทุกคนเป็นราษฎรของพระองค์เช่นเดียวกัน ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมมัสยิดที่อิหม่ามประจำมัสยิดกราบบังคมทูล เชิญเสด็จ และพระราชทานเงินบำรุงมัสยิดนั้น ๆ ในเดือนรอมฎอนอันเป็นเดือนที่ชาวมุสลิมถือศีลอด ยังทรงพระกรุณาพระราชทานอินทผลัมแก่อิหม่ามในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย

พระราชกรณียกิจในการทะนุบำรุงศาสนาในพระราชอาณาจักรโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระพุทธศาสนา ซึ่ง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงปฏิบัติเป็นแบบอย่างที่ดีของพุทธศาสนิกชนตลอดมา ทำให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาวิชาพระพุทธศาสนา เมื่อ พุทธศักราช 2546 เพื่อเฉลิมพระเกียรติให้แผ่ไพศาลยิ่งขึ้น

ข้อมูลจาก :www.belovedqueen.com
พระราชประวัติ พระราชินี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ชม ภาพพระราชินี รูปพระราชินี อ่าน กลอนพระราชินี ติดตาม พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส โครงการพระราชดำริ และ พระราชกรณียกิจ ของ พระราชินี
◊ เรื่องที่เกี่ยวข้อง
คําขวัญวันแม่ คําขวัญวันแม่
กลอนวันแม่ กลอนวันแม่
เรียงความวันแม่ เรียงความวันแม่
เพลงแม่ เพลงแม่
วันแม่ วันแม่
วันแม่ ดู รูปวันแม่ การ์ดวันแม่ซึ้ง ๆ คลิกรูปวันแม่ การ์ดวันแม่ซึ้ง ๆ




Valid XHTML 1.0 Transitional