พระราชกรณียกิจ ด้านสาธารณสุขและสังคมสงเคราะห์

ในพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 28 เมษายน พุทธศักราช 2493 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ได้ทรงรับฉันทานุมัติ เป็นผู้กราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคล ในพระนามของพระบรมวงศานุวงศ์ มีความตอนหนึ่งว่า

"...ได้ทรงเลือกสรรประสบผู้ที่สมควรแก่การสนองพระยุคลบาทร่วมทุกข์ แบ่งเบาพระราชภาระในภายภาคหน้า..."

ในครั้งนั้น ใครจะคิดว่าพระราชภาระของพระมหากษัตริย์ผู้เป็นพระประมุขของประเทศ ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น นอกจากการประกอบพระราชกรณียกิจ ที่เป็นพระราชพิธี รัฐพิธี ศาสนพิธี และพระราชกรณียกิจที่กำหนดชัดเจนในรัฐธรรมนูญแห่งประเทศไทยแล้วจะยังมีพระราชกรณียกิจอื่นที่มากพ้นล้นเหลือประมาณอีกด้วย แต่จากวันนั้นถึงวันนี้ คนไทยก็ได้ประจักษ์ว่าพระราชกรณียกิจ ทั้งหลายทั้งปวงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติมากมายสุดจะพรรณนา นั้นทรงปฏิบัติด้วยพระราชหฤทัยห่วงใยประชาชนและประเทศชาติบ้านเมือง ได้ทรงมีพระวิริยอุตสาหะไม่ท้อถอย ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข พัฒนาอาชีพและชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร ทรงแก้ไขปัญหาวิกฤตของบ้านเมืองทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และภัยธรรมชาติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ก็ได้ทรงแบ่งเบาพระราชภาระต่าง ๆ มาโดยตลอดโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระราชกรณียกิจด้านสาธารณสุข สังคมสงเคราะห์และการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรในชนบทให้มีความรู้ มีงานมีรายได้ สามารถดำรงชีวิตอย่างมีสุขอนามัย

เมื่อครั้งทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชินีใหม่ ๆ นั้น เมื่อ เกิดอุทกภัย วาตภัย และอัคคีภัยขึ้นที่จังหวัดใด ราษฎรได้รับความเดือดร้อนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ข้าราชบริพารฝ่ายในนำอาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค สิ่งของเครื่องใช้ไปแจกจ่าย ให้แก่ผู้ที่ประสบภัยเหล่านั้นอย่างทันท่วงที เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในการประชุมการสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ ครั้งที่ 1 ที่กรมประชาสงเคราะห์ร่วมกับองค์กรเอกชนจัดขึ้น ณ ศาลาสันติธรรม เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2503 ได้มีพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า

"ในขณะนี้ประเทศไทยกำลังเร่งรัดสร้างสรรค์ความเจริญ จำเป็นต้องตระหนักถึงผลทางสังคมอันจะเกิดขึ้น และเตรียมที่จะรับปัญหานั้นในเรื่องนี้เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงข้อขัดข้องและความผิดพลาด น่าจะศึกษาบทเรียนที่ประเทศต่าง ๆ ได้รับในระยะการพัฒนาการ ส่วนผู้ที่เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิตลอดจนผู้แทนและผู้สังเกตการณ์จากหน่วยงานหรือองค์กรสถานศึกษาต่าง ๆ นั้น ก็ควรจะ ประสานงานสอดคล้องต้องกันเพื่อพัฒนางานในด้านนั้นให้เกิดประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ประชาชน ซึ่งเป็นกุศลบุญ ควรแก่การอนุโมทนา..."

พระราชดำรัสในเรื่องการสังคมสงเคราะห์เมื่อกว่าสี่สิบปีมาแล้วแสดงถึงความสนพระราชหฤทัยและความถี่ถ้วนรอบคอบในกิจการทั้งปวงที่หน่วยงานต่าง ๆ ควรจะต้องประสานงานกัน การศึกษาสังเกตการณ์ซึ่งได้ทรงถือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง การสังคมสงเคราะห์ในระยะต่อมาได้ทรงค่อย ๆ เปลี่ยนจากการที่ทรง "ให้" เป็นความพยายามให้ราฏรได้ช่วยตนเองด้านการตามแนวทางและวิธีการ โดยอาศัยความรู้ความสามารถที่ราษฏรมีอยู่แล้วในแต่ละท้องถิ่นแต่ได้ถูกทอดทิ้งละเลย ให้นำมาพัฒนาใช้ให้เป็นประโยชน์

เมื่อมีการจัดตั้งสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยขึ้นใน พุทธศักราช 2503 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานเปิดการประชุมหลายครั้ง ในวันที่ 10 สิงหาคม พุทธศักราช 2505 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และพระราชทานทุนทรัพย์ตั้ง "กองทุนเมตตา" ขึ้นเมื่อทรงทราบว่า คนบางคนแม้จะตั้งใจประกอบอาชีพโดยสุจริตด้วยความขยันแล้ว แต่มีรายได้ไม่เพียงพอแก่ความจำเป็นที่ต้องใช้จ่าย จึงเดือดร้อนด้วยประการต่าง ๆ จนมีหนี้สินพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ ยากที่จะปลดเปลื้องได้ เกิดความเดือดร้อน เป็นความทุกข์ของครอบครัวทับถมซับซ้อน ก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น ความเจ็บป่วยด้านจิตใจ ความเก็บกดหรือการแก้ปัญหาในทางที่ผิดของเยาวชนที่อยู่ในครอบครัวนั้น ๆ ความท้อแท้ที่จะศึกษาเล่าเรียน จนท้ายที่สุดกลายเป็นปัญหาของสังคม กองทุนเมตตาได้ขจัดปัดเป่าบรรเทาความทุกข์ยากของผู้ที่เดือดร้อนได้ตามวัตถุประสงค์ในเวลานั้น นอกจากนี้ได้พระราชทานพระราชทรัพย์จำนวนหนึ่งให้สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นทุนริเริ่มกองทุนพระราชทานช่วยเหลือการศึกษาเด็กเยาวชน เพื่อช่วยเหลือเด็กขาดแคลนให้มีโอกาสได้เล่าเรียน มีความรู้ไปประกอบอาชีพและดำเนินชีวิตในแนวทางที่ถูกที่ควรกองทุนนี้ต่อมา ได้มีผู้สมทบเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และขยายเป็นทุนอื่น ๆ ที่มีวัตถุประสงค์ทำนองเดียวกันนี้อีกหลายทุน มีชื่อต่าง ๆ ได้ช่วยสร้างคนให้เป็นคนที่มีคุณค่าแก่แผ่นดินเมื่อเติบโตขึ้น นอกจากนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานพระบรมราชินูปถัมภ์แก่สมาคม และมูลนิธิเพื่อการสังคมสงเคราะห์เป็นจำนวนมาก เช่น มูลนิธิช่วยเด็กปัญญาอ่อน ในพระบรมราชินูปถัมภ์ มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวกในพระบรมราชินูปถัมภ์ มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ได้ทรงส่งเสริมการปฏิบัติงานช่วยเหลือองค์กรการสังคมสงเคราะห์ เพื่อดำเนินงานสาธารณกุศล เช่น เมื่อเดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช 2506 สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยฯ ได้จัดตั้งศูนย์บริการอาสาสมัครขึ้น เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่ประจำของหน่วยงาน บรรเทาทุกข์หรือสาธารณประโยชน์ ได้แก่ โรงพยาบาล ศูนย์เยาวชน สถานสงเคราะห์ ฯลฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้คณะกรรมการและอาสาสมัครเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พุทธศักราช 2510 ได้มีพระราชดำรัส ความตอนหนึ่งว่า

"...การที่คนไทยเรายึดหลักอุดมคติว่า ความทุกข์สุข ไม่ไช่เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล หรือเฉพาะครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งเท่านั้น เป็นความคิดที่ทันสมัยในโลกปัจจุบัน เราจะมีความสุขตามลำพัง โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของคนอื่นอีกหลายคนที่แวดล้อมเราอยู่นั้นไม่ได้ ผู้มีเมตตาจิตหวังประโยชน์ส่วนร่วม ย่อมรู้จักแบ่งปันความสุขเพื่อผู้อื่น และพร้อมที่จะช่วยบรรเทาความทุกข์ของผู้อื่นตามกำลังและโอกาสเสมอ...."

ต่อมาเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปทรงเยี่ยมราษฎรในภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ เช่น เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรใน พุทธศักราช 2513 เมื่อเกิดอุทกภัยในจังหวัดนครพนม เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฏรทางภาคกลางเมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ไร่นาล่ม จมเสียหายใจ พุทธศักราช 2518 รวมทั้งในระหว่างเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชนิเวศน์ในต่างจังหวัด ได้มีพระราชดำรัสถามราษฎรที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ ทำให้ทรงทราบว่าราษฏรในชนบทจำนวนมากยากจน มีรายได้ไม่พอเลี้ยงชีพ และไม่สามารถที่จะหารายได้เพิ่ม ไม่เห็นหนทางที่จะแก้ไขความเดือดร้อนด้วยตนเอง ขาดแคลนสาธารณสุขพื้นฐานขาดสุขอนามัย ยามเจ็บไข้ก็ไม่มีแพทย์และยารักษาโรคที่จะบำบัดรักษา จึงมีพระราชดำริที่จะพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้น ปรากฏในคำบอกเล่าของ ดร.สุเมธ จันติเวชกุล ขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ที่กล่าวในการอภิปรายเรื่อง "สมเด็จฯ ของเรา" ณ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พุทธศักราช 2531 ซึ่งได้เชิญพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ตอนหนึ่งว่า

"...พระเจ้าอยู่หัวและข้าพเจ้าไม่ได้พึงพอใจกับเพียงแต่เยี่ยมเยียนราษฏร หรือทำแต่สิ่งที่เคยทำเป็นประเพณี เราต้องพยายามให้ดีกว่านั้น เราต้องช่วยรัฐบาลส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นเพราะเราเป็น ประเทศด้อยพัฒนา ดังนั้นการที่เพียงแค่ไปเยี่ยมเยียนราษฏรเพราะเป็นหน้าที่ของประมุขของ ประเทศที่จะต้องทำตามประเพณีนั้น เป็นเรื่องไร้สาระ หากเราไม่สามารถมีส่วนร่วมในการบรรเทาทุกข์ให้ประชาชนแล้ว เราต้องถือว่าการเป็นประมุขประสบความล้มเหลว...."

พระราชดำรัสครั้งนั้น แสดงถึงพระราชหฤทัยอันมุ่งมั่นที่จะบรรเทาทุกข์ให้แก่ราษฏร และหากทบทวนพระราชกรณียกิจที่ได้ทรงบำเพ็ญอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่า ราษฏรในชนบทได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากการเสด็จเยี่ยมทั่วราชอาณาจักรนับ ครั้งไม่ถ้วน โดยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหลายพันโครงการ มีทั้งโครงการเรื่องการเกษตรเรื่องน้ำ เรื่องดิน เรื่องการฟื้นฟูและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูและพัฒนางานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน การแพทย์ การสาธารณสุข ฯลฯ

เพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ของราษฏร ในระยะแรกของการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฏรในต่างจังหวัด เมื่อทรงพบเห็นว่าราษฏรที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ มีอาการเจ็บป่วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้มีพระราชเสาวนีย์ให้แพทย์ที่ตามเสด็จไปในขบวนตรวจอาหาร จ่ายยา และให้คำแนะนำแก่ราษฏรในการดูแลรักษาตนเองแต่หากไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ในขณะนั้น หรือเป็นโรคที่ร้ายแรง จะมีพระราชเสาวนีย์ให้ส่งไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลซึ่งอยู่ใกล้ท้องถิ่นนั้น โดยพระราชทานหนังสือรับรองว่าเป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์พร้อมค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ส่วนค่ารักษาพยาบาลและค่ายานั้น จะพระราชทานแก่โรงพยาบาลโดยตรง หากผู้ป่วยไม่สามารถไปเองได้จะทรงจัดเจ้าหน้าที่นำไป และพระราชทานค่าใช้จ่ายแก่เจ้าหน้าที่ด้วย ถ้าโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ท้องถิ่นนั้นขาดบุคลากรทางการแพทย์ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ในการรักษา ก็ให้ส่งไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ โดยพระราชทานค่าเดินทางและค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฏรต่างจังหวัด หรือขณะเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับที่พระราชนิเวศน์ในภูมิภาคต่าง ๆ มีราษฏรที่เจ็บไข้มาขอรับพระราชทานความช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก ต้องมีแพทย์และพยาบาลอาสาไปช่วยปฏิบัติงานเพิ่มขึ้น แล้วยังใช้เวลามากขึ้นจนมืดค่ำ หลายครั้งที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชโอรสและพระราชธิดา ทรงช่วยซักถามประวัติและอาการของผู้ป่วย ตลอดจนช่วยแพทย์ในการจ่ายยา และการบันทึกเพื่อติดตามผล นอกจากนี้โรงพยาบาลในท้องถิ่นมักมีความจำกัดในเครื่องเวชภัณฑ์และยารักษาโรค สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ เพื่อจัดซื้อเครื่องมือเครื่องใช้และยาเพิ่มขึ้น หน่วยงานต่าง ๆ ได้ร่วมช่วยเหลือคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ เช่น ตำรวจตระเวนชายแดนนำคนไข้ไปส่งโรงพยาบาลการรถไฟแห่งประเทศไทย ออกใบเบิกทางให้คนไข้และญาติแทนค่าโดยสารโรงพยาบาล ลดค่ารักษาพยาบาลให้ ฯลฯ ในระหว่างที่ราษฏรผู้เจ็บป่วย ต้องจากบ้านไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเข้าพระราชหฤทัย ถึงความรู้สึกของคนไข้เป็นอย่างดีว่าย่อมจะว้าเหว่ เกิดความอ่อนแอทางจิตใจ ซึ่งจะมีผลต่อสุขภาพทางกายเป็นอันมาก และคนในครอบครัวก็ย่อมจะห่วงใย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ญาติผู้ใกล้ชิดติดตามไป เพื่อช่วยดูแลคนไข้และพระราชทานค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้ด้วย

ข้อมูลจาก :www.belovedqueen.com
พระราชประวัติ พระราชินี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ชม ภาพพระราชินี รูปพระราชินี อ่าน กลอนพระราชินี ติดตาม พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส โครงการพระราชดำริ และ พระราชกรณียกิจ ของ พระราชินี
◊ เรื่องที่เกี่ยวข้อง
คําขวัญวันแม่ คําขวัญวันแม่
กลอนวันแม่ กลอนวันแม่
เรียงความวันแม่ เรียงความวันแม่
เพลงแม่ เพลงแม่
วันแม่ วันแม่
วันแม่ ดู รูปวันแม่ การ์ดวันแม่ซึ้ง ๆ คลิกรูปวันแม่ การ์ดวันแม่ซึ้ง ๆ




Valid XHTML 1.0 Transitional