คู่พระบารมี ศรีแผ่นดิน

สารคดี เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม 2547

ตอนที่ 1

ประเทศไทยนอกจากจะมีพระสยามเทวาธิราชผู้อภิบาลเมืองไทยให้อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพย์ในดินสินในน้ำ และมีพระมหากษัตริย์ที่ทรงบุญญาธิการปกเกล้าปกกระหม่อมอาณาประชาราษฎร์ให้อยู่เย็นเป็นสุขแล้ว ประเทศไทยยังมีพระบรมราชินีนาถถึงสองพระองค์ คือสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระชาติกำเนิดเป็นหม่อมราชวงศ์ ในราชสกุล กิติยากร เป็นพระธิดาองค์ใหญ่ของ พลเอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ (หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร) กับ หม่อมหลวงบัว กิติยากร เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พุทธศักราช 2475 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตยเพียง 49 วัน ณ บ้านพลเอก เจ้าพระยาวงศานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สะท้าน สนิทวงศ์) บิดาของหม่อมหลวงบัว ที่ตำบล สะพานเหลือง ถนนพระราม 6 ในช่วงเวลาที่หม่อมเจ้านักขัตรมงคล พระบิดาได้เดินทางไปรับราชการในสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา และหลังจากเสด็จพระราชสมภพไม่กี่วัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามว่า "สิริกิติ์" ซึ่งมีความหมายว่า "ยังความปลื้มปีติยินดีและเกียรติยศมาสู่ตระกูลกิติยากร"

ตอนที่ 2

เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระชนมพรรษาได้เพียง 3 เดือน พระมารดาคือหม่อมหลวงบัว กิติยากร มีความจำเป็นต้องตามไปพำนักอยู่กับหม่อมเจ้านักขัตรมงคล พระบิดา ที่สหรัฐอเมริกา จึงมอบธิดาอันเป็นสุดที่รักและแสนห่วงใยให้อยู่ในการดูแลโอบอุ้มของคุณตา คือ นายพลเอก เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ ผู้มีความรักใคร่เอ็นดู คอยอุ้มชูฟูมฟัก และกำชับพี่เลี้ยงนางนมให้เอาใจใส่ปฏิบัติดูแล หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เป็นอย่างดี ด้วยสงสารที่ต้องจากอกบิดามารดาตั้งแต่เล็กแต่น้อย

2 ปีต่อมา หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร ทรงตัดสินพระทัยลาออกจากตำแหน่งเลขานุการเอกสถานเอกอัครราชทูตประจำกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา กลับสู่สยามประเทศ และได้รับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาองค์ใหญ่ ที่จำใจต้องห่างไกลกันไปชั่วระยะหนึ่ง จากบ้านคุณตาที่ตำบลสะพานเหลืองกลับคืนสู่วังเทเวศน์ วาระแห่งความสุขสดชื่นของครอบครัว กิติยากร จึงหวนกลับคืนมาอีกครั้ง

เมื่อพระชนมพรรษาได้ 5 พรรษา พระบิดาได้ส่งเข้าศึกษาในโรงเรียนราชินี ที่ปากคลองตลาด ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงสามารถสอบไล่ได้ในชั้นประถมปีที่ 1 ในปีเดียวกันนั้นเอง

ตอนที่ 3

ในปีพุทธศักราช 2480 ขณะที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มี พระชนมพรรษา 8 พรรษา หม่อมเจ้านักขัตรมงคล พระบิดา ได้ย้ายพระองค์ท่านออกจากโรงเรียนราชินี ไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ สามเสน และที่โรงเรียนนี้ นอกจากพระองค์จะทรงพระปรีชาสามารถ และเอาพระราชหฤทัยใส่ต่อการศึกษาเป็นอย่างดียิ่งแล้ว ยังสนพระราชหฤทัย และทรงมีพรสวรรค์ในวิชาดนตรีเป็นพิเศษ จนครูผู้ฝึกสอนดนตรีคือ มาดามเรอเน และมาดามฟรังซิสก้าออกปากชมอย่างจริงใจว่า พระองค์ทรงมีวิญญาณศิลปินติดตัวมาแต่กำเนิด โดยสามารถอ่านโน้ต และร้องเพลงได้ถูกต้อง ตามจังหวะอย่างน่าอัศจรรย์ใจ นอกจากนั้นยังสามารถทรงเปียโนได้ไพเราะเพราะพริ้ง ยิ่งกว่าเด็กทุกคนในวัยเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ จึงเป็นศิษย์ที่น่ารัก น่าเอ็นดูของครูผู้ฝึกสอนอย่างยิ่ง ทั้งยังเป็นที่ร่ำลือกันในโรงเรียนอีกด้วย

พรสวรรค์อีกประการหนึ่งของพระองค์ท่าน ก็คือ มีความทรงจำเป็นเยี่ยม การเล่าเรียนในโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ ตลอดระยะเวลา 8 ปี ทั้งมาดามเรอเนและมาดามฟรังซิสก้า ได้พยายามฝึกสอนวิชาการดนตรีอย่างใกล้ชิด แม้พระปรีชาสามารถจะไม่ถึงขั้นอาชีพหรือขั้นนักดนตรีเอกของโลกในด้านเปียโนก็ตาม แต่ฝีมือก็ ถือเป็นเลิศ ยากนักที่เด็กหญิงที่มีอายุอานามเพียง 13 ปีจะสามารถกระทำได้

ตอนที่ 4

ช่วงเวลา 8 ปี ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเล่าเรียน ที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์แม้จะดำเนินไปด้วยดี มีความสุขสำราญ แต่ในระหว่างนั้น ก็มีเหตุการณ์อันสะเทือนจิตใจครอบครัว "กิติยากร" และ "สนิทวงศ์" อย่างยิ่งอยู่ครั้งหนึ่ง คือการสูญเสีย พลเอกเจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ หลังจากป่วยด้วยไข้มาลาเรียและเบาหวาน บวกกับโรคหัวใจทั้งอยู่ในวัยชรา แม้จะได้ระวังรักษาอาการอย่างกวดขันแล้ว ก็ตาม วันที่ 20 ตุลาคม พุทธศักราช 2483 เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ พระอัยกาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ก็ได้ลาโลกไปด้วยความสงบ

สิ่งที่เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์เหลือไว้ ไม่ใช่ทรัพย์ศฤงคารอันล้ำค่า หากเป็นความดี ที่มีส่วนตกทอดมาถึงลูกหลาน เพราะท่านเป็นคนมักน้อย แม้จะมีตำแหน่งใหญ่โตทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนก็ตาม ท่านเป็นผู้อุทิศแรงกายและจิตใจให้แก่งาน โดยไม่เห็นแก่อามิสสินจ้าง และไม่ยอมใช้เวลาราชการไปประกอบอาชีพเพื่อประโยชน์ส่วนตัวแต่อย่างใด นับเป็นบุคคลตัวอย่างของเมืองไทยท่านหนึ่ง ซึ่งควรค่าแก่การศึกษาของอนุชนคนรุ่นหลัง ๆ และรำลึกถึงคุณความดีที่ท่านทำไว้แก่ประเทศชาติบ้านเมือง

ตอนที่ 5

ปีสุดท้ายแห่งการเรียนในโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีเรื่องเล่ากันว่า ก่อนที่ จะต้องเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ นั้น พระองค์ท่านได้ทรง เล่าให้เพื่อนร่วมชั้นเรียนฟังอย่างสนุกสนานระคนความไม่เชื่อว่า วันหนึ่งมีหมอดูเดินเข้าไปในวังเทเวศน์และพยากรณ์ดวงชะตาของ พระองค์ท่านว่า ในอนาคตจะได้เป็นที่เชิดหน้าชูตาของวงศ์ตระกูล และวันหนึ่งจะได้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่เป็นถึง พระราชินี บรรดาเพื่อน ๆ นักเรียนที่สนิทชิดชอบที่ห้อมล้อมฟังอยู่ ต่างพากันชอบอกชอบใจ บางคนก็เชื่อ บางคนก็ไม่เชื่อโดยเห็นเป็นเรื่องของหมอดูคู่กับหมอเดา อย่างไรก็ตามเพื่อน ๆ ต่างพากันสถาปนาด้วยอารมณ์ของเด็ก ๆ โดยขานพระนามพระองค์ท่านว่า "ราชินีสิริกิติ์"

แล้วในปีพุทธศักราช 2492 เมื่อมีข่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงประกาศหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ อาจารย์ที่เคยได้ฟังนักเรียนพูดกันถึงเรื่อง "ราชินีสิริกิติ์" ถึงกับตกตะลึงและรำลึกถึงความหลังในครั้งนั้น พูดกับนักเรียนที่เป็นเพื่อนร่วมชั้นของหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ว่า “เห็นไหมล่ะ ที่พวกเธอพูดกันเล่น ๆ อย่างคะนองปากและสนุกสนานนั้น บัดนี้กลายเป็นความจริงขึ้นมาแล้ว"

ตอนที่ 6

ในปีพุทธศักราช 2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งอัครราชทูตประจำราชสำนักเซนต์เจมส์ ประเทศอังกฤษ แต่ก่อนที่จะเสด็จไปรับตำแหน่งดังกล่าว ได้เกิดเหตุร้ายสั่นสะเทือนราชวงศ์จักรีและขวัญของประชาชนที่ ต้องสูญเสียพระมหากษัตริย์ "นักประชาธิปไตย" อย่างไม่มีใครคาดฝัน เมื่อสมเด็จพระอนุชาธิราชขึ้นเสวยราชย์แทน และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชสาส์นตราตั้งใหม่แล้ว หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร จึงได้เดินทางไปทรงรับตำแหน่งโดยมีเพียงพระชายาตามเสด็จเท่านั้น

และเมื่อประเทศไทยจำเป็นต้องฟื้นฟูสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศในยุโรป หม่อมเจ้านักขัตรมงคล ต้องทรงย้ายไปดำรงตำแหน่งอัครราชทูต ประจำประเทศเดนมาร์ก และประเทศฝรั่งเศส จนถึงปีพุทธศักราช 2491 จึงได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งอัครราชทูตประจำราชสำนักเซนต์เจมส์ ประเทศอังกฤษ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จึงได้ทรงลาออกจากโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ติดตามพระบิดาไปศึกษาต่อ ณ ประเทศฝรั่งเศส นับเป็นจุดเริ่มต้นแห่งพรหมลิขิตที่ว่า “เนื้อคู่กันแล้วไม่แคล้วกัน"

ตอนที่ 7

ในช่วงที่ พำนักอยู่กับพระบิดา ซึ่งดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศฝรั่งเศส การดำรงชีวิตของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ดูจะไม่เอิกเกริกนัก ด้วยทรงไว้พระองค์อย่างสมพระเกียรติ เนื่องจากยังอยู่ในวัยศึกษา คำพยากรณ์ของหมอดูที่ว่า จะมีวาสนาสูงส่งเป็นถึงพระราชินี ก็ค่อนข้างที่จะลืมเลือนกันไป แต่ด้วยพรหมลิขิต ที่พระมหากษัตริย์หนุ่มของไทย ทรงโปรดกรุงปารีสและโปรดเส้นทางหลวงข้ามประเทศซึ่งมีความยาวถึง 350 ไมล์ โดยทรงขับรถยนต์พระที่นั่ง ทำลายสถิติความเร็วจากนครโลซานน์ถึงปารีส ด้วยเวลาเพียง 3 ชั่วโมงเศษ เพื่อทอดพระเนตรการแสดงของวงดนตรีที่มีชื่อเสียงตามสถานมหรสพต่าง ๆ อยู่เสมอ

และในระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินไปยังกรุงปารีสนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็โปรดประทับที่สถานเอกอัครราชทูตไทย เช่นเดียวกับนักเรียนไทยอื่น ๆ ทั่วไป ได้ทรงร่วมสังสรรค์กับหมู่นักเรียนไทยอย่างใกล้ชิดและเป็นกันเอง ณ ที่แห่งนี้เอง คือ จุดเริ่มต้นแห่งความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างพระองค์กับครอบครัว "กิติยากร" โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ธิดาสาวของท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส

ตอนที่ 8

การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินด้วยรถยนต์พระที่นั่งข้ามประเทศจากนครโลซานน์ไปยังกรุงปารีสและประทับพักแรม ณ สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส โดยมีหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร พร้อมด้วยครอบครัว คอยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วยความจงรักภักดีโดยตลอด กอปรกับทรงเป็นพระญาติอัน สืบสายจากราชวงศ์จักรีด้วยกันนี้เอง ความใกล้ชิดสนิทสนมได้เพิ่มพูนขึ้นเป็นลำดับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตรัสทักทายกับทุกคนในครอบครัวของเอกอัครราชทูตไทยอย่างไม่เคอะเขิน โดยเฉพาะหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร สตรีผู้มีลักษณะเบญจกัลยาณีที่สะดุดพระเนตรและถูกพระราชหฤทัย

ที่น่าสังเกตคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงโปรดการมีพระราชกระแส โต้ตอบกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เกี่ยวกับเรื่องดนตรีอยู่เสมอ เนื่องด้วย หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ มีความชำนาญด้านดนตรี โดยเฉพาะการเล่นเปียโน จึงไม่เป็นปัญหาเลยว่า หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เป็นสุภาพสตรีคนเดียวที่พระมหากษัตริย์หนุ่มไทย ทรงโปรดปรานด้วยพระราชหฤทัยจดจ่อเป็นที่ยิ่ง และนี่คือสายใยแห่งความปฏิพัทธ์ ที่ได้เริ่มต้นและได้ผูกพันกันไปชั่วกาลนาน

ตอนที่ 9

ค่ำวันที่ 6 ตุลาคม พุทธศักราช 2491พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประสบอุบัติเหตุ รถยนต์พระที่นั่งชนท้ายรถบรรทุก และแม้จะทรงบาดเจ็บอยู่ในขีดอันตราย แต่ก็ไม่ทรงลืมกุลสตรีที่ทรงสนิทเสน่หา ทรงขอหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร พระบิดา อนุญาตให้ธิดาได้มาอยู่ใกล้ชิดเพื่อความอบอุ่นพระราชหฤทัย หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร ก็สนองพระราชประสงค์ด้วยความจงรักภักดี นอกจากนี้ ยังพาครอบครัวจากกรุงปารีสมาเฝ้าเยี่ยมพระอาการ พร้อมกับฝากฝังหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ไว้ในความดูแลของสมเด็จพระบรมราชชนนีด้วย

การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ อยู่เฝ้าถวายการรักษาพยาบาลในช่วงเวลานั้น นอกจากจะเป็นการแบ่งเบาภาระของสมเด็จพระบรมราชชนนีและสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเป็นอันมากแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ครั้งยังเป็น หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ยังได้พิสูจน์ความเป็น ยอดกัลยาณีให้ปรากฏแก่สายพระเนตรของสมเด็จพระบรมราชชนนีและผู้ใกล้ชิดทั้งปวง โดยเฉพาะการที่ทรงสืบสายพระโลหิตสายเดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเหมาะสมที่สุดแก่การเป็น "ศรีสะใภ้" ไม่ว่าจะในความรู้สึกของสมเด็จพระบรมราชชนนี หรือแม้แต่ในความรู้สึกสำนึกในมโนธรรมของพระบรมวงศานุวงศ์และประชาชนโดยทั่วไป

ตอนที่ 10

ช่วงเวลา 1 ปีเต็มที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยูหัวภูมิพลอดุลยเดชกับ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ทรงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด จนอาจกล่าวได้ว่าในโลกนี้ไม่มีอำนาจใด ๆ ที่จะมาพรากสองชีวิตนี้ให้แยกออกจากกันได้นอกเสียจากความตาย แล้วในปลายปีพุทธศักราช 2492 วันที่ 12 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันครบรอบ 16 ปีของหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำราชสำนักเซนต์เจมส์ ได้จัดงานฉลองให้ธิดา ณ สถานเอกอัครราชทูตประจำกรุงลอนดอน ซึ่งนอกจากจะมีข้าราชการของสถานทูตและนักเรียนไทยในประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสมาร่วมงานแล้ว ยังมีพระราชวงศ์องศ์สำคัญ ๆ ซึ่งเป็นพระญาติผู้ใหญ่เสด็จในงานมงคลนี้ด้วย และในค่ำคืนอันแสนสุขและเป็นมงคลนั้นเอง เหตุการณ์ที่ไม่มีใครคิดฝันได้บังเกิดขึ้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานคำอำนวยพรแก่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ด้วยพระราชดำรัสอันไพเราะและคมคาย พร้อมกับได้พระราชทานแหวนเพชร ล้ำค่าเป็นของขวัญ พร้อมกับกระแสพระราชดำรัสว่า "สิ่งนี้เป็นของมีค่ายิ่งและเป็นของ ที่ระลึกด้วย" บรรดาผู้ที่มาในงาน แม้แต่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ซึ่งในกาลต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เอง ต่างตะลึงพรึงเพริดด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ตอนที่ 11

พระธำมรงค์เพชร ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานในวันเกิด หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พุทธศักราช 2492 นั้น นับเป็นของขวัญอันล้ำค่ายิ่งทั้งด้านวัตถุและด้านจิตใจ เพราะเป็นเพชรน้ำใสบริสุทธิ์ที่ถูกเกาะไว้ด้วยหนามเตยสลักเป็นรูปหัวใจ ทั้งได้เคยเป็นเครื่องหมายแห่งความรักของกรมหลวงสงขลานครินทร์ พระบรมราชชนก ที่ได้ทรงประทานแก่สมเด็จพระบรมราชชนนี เพื่อเป็นมงกุฎแห่งความรักและเสน่หา ที่ได้ผูกพันมาจนวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ

หลังจากวันนั้นไม่นาน ได้มีข่าวลือแพร่สะพัดว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร พระธิดาของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอนแล้ว และเพื่อสยบข่าวลือต่าง ๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชกระแสสั่งให้แจ้งมายังรัฐบาลไทยทราบอย่างเป็นทางการว่า พระองค์ได้ทรงประกอบพิธีหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร อย่างเงียบ ๆ แล้วที่กรุงโลซานน์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พุทธศักราช 2492 นับเป็นวาระ ที่พสกนิกรชาวไทยทั่วประเทศต่างปีติยินดีโดยทั่วหน้ากันอีกครั้งหนึ่ง

ตอนที่ 12

การประกาศข่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงหมั้น หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากรธิดาเอกอัครราชทูตไทยในกรุงลอนดอน ทำให้สถานเอกอัครราชทูตไทยได้รับความสนใจจากผู้คนและสื่อมวลชนนานาชาติในประเทศอังกฤษ พร้อมใจกันไปร่วมแสดงความยินดีและสอบถามเรื่องราวของข่าวการหมั้นอย่างคับคั่ง

หนังสือพิมพ์อังกฤษทุกฉบับต่างพากันลงพิมพ์ข่าวทรงหมั้นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไว้ในหน้าแรกที่เด่นและสดุดตามากที่สุด หลายฉบับได้ลงพิมพ์รูป หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ทั้งภาพที่ถ่ายเล่น ๆ อย่างไม่เป็นทางการ และภาพที่ตั้งใจถ่ายจริง ๆ

หนังสือพิมพ์ "Sunday Times ซึ่งพิมพ์จำหน่ายในสิงคโปร์ ฉบับประจำวันที่ 18 กันยายน 2492 ได้ลงบทสัมภาษณ์หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร มีตอนหนึ่งที่กล่าวถึง การหมั้นที่เกิดขึ้นว่า "ฉันยังเด็กมากและไม่เคยมีความรักมาก่อนมันทำให้ฉันรู้สึกตื่นเต้นเหมือนกัน" ส่วนพิธีอภิเษกสมรสนั้น มีความว่า "การอภิเษกจะกระทำอย่างง่าย ๆ เพียงแต่จะมีจดทะเบียนเท่านั้นจะไม่มีพิธีรีตองว่าอะไร แต่อาจจะมีการฉลองกันบ้างระหว่าง ครอบครัว"

ตอนที่ 13

ในช่วงต้นปีพุทธศักราช 2493 ข่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จนิวัตถึงพระนคร ในวันที่ 24 มีนาคม ได้แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็วจากปากหนึ่งไปยังอีก ปากหนึ่งและลงไปถึงพลเมืองผู้คอยวันเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศไทยด้วยความจงรักภักดี และมีความปรีดาปราโมทย์ อยู่ทั่วผืนแผ่นดินไทย ต่างหวังจะได้ชื่นชมพระบุญญาบารมี ทั้งจะมีโอกาสได้ชมพระสิริโฉมหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร พระคู่หมั้น ผู้จะเป็นพระราชินีในระยะเวลาอันใกล้

บรรยากาศในเมืองไทยเริ่มสดชื่นรื่นเริงขึ้นอย่างประหลาด ธงชาติไทยปลิวไสว มีการประดับอักษรพระปรมาภิไธยย่อ "ภปร." และคำว่า "ทรงพระเจริญ" ทั่วทุกผืนแผ่นดินไทย โดยเฉพาะในคืนวันที่ 23 มีนาคม ผู้คนส่วนใหญ่จะพูดคุยกันแต่เพียงว่า จะไปอยู่ ณ จุดใด จึงจะได้ชมพระบารมีและเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอย่างใกล้ชิด

เช้าตรู่ของวันที่ 24 มีนาคม 2493 ขบวนเรือพระที่นั่งซีแลนเดีย ที่รอนแรมฝ่า คลื่นลมจากประเทศฝรั่งเศส มาตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ได้เข้าสู่อ่าวไทย มีรายงานจากเรือรบหลวง 3 ลำ ที่กองทัพเรือได้ส่งออกไปรับเสด็จตั้งแต่เวลา 03.00 น. ว่า ขณะนี้เวลา 05.50 น. ได้พบกับเรือซีแลนเดียแล้ว ห่างจากเกาะไผ่ราว 15 ไมล์ไปทางทิศตะวันตก"

ตอนที่ 14

เวลา 08.00 น. วันที่ 24 มีนาคม พุทธศักราช 2493 จอมพลแปลก พิบูลสงคราม กับพลเรือโทสินธุ กมลนาวิน และคณะได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตขึ้นสู่เรือพระที่นั่งซีแลนเดีย กราบบังคมทูลพระกรุณาเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และคณะผู้ตามเสด็จซึ่งประกอบด้วย หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร และชายา พร้อมด้วยธิดาคือ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร และหม่อมราชวงศ์บุษบา กิติยากร จากเรือ ซีแลนเดีย ไปประทับยังเรือรบหลวงสุราษฎร์ บ่ายหน้าเข้าสู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา จอดเทียบท่าหน้าป้อมพระจุล เวลา 9.45 น. กองทหารเกียรติยศถวายความเคารพ ปืนใหญ่ยิงสลุต 21 นัด ท่ามกลางเรือของประชาชนชาวจังหวัดสมุทรปราการที่มาจอดรอเฝ้ารับเสด็จเป็นจำนวนมาก ได้ทรงเปลี่ยนเรือพระที่นั่งจากเรือรบหลวงสุราษฎร์มาประทับยังเรือศรีอยุธยาเรือพระที่นั่งทรง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จประทับในห้องโถงนายทหาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอ่านคำกราบบังคมทูลในการน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายยศ จอมพลเรือ จบแล้วผู้บัญชาการทหารเรือ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเครื่องยศ หลังจากเสร็จพิธีแล้ว เรือพระที่นั่งศรีอยุธยา ได้เข้าเทียบท่าราชวรดิษฐ์ ในเวลา 15 นาฬิกา ตรงตามกำหนดการ

ตอนที่ 15

ในระหว่างการเสด็จประทับเรือพระที่นั่งศรีอยุธยาจากป้อมพระจุลมุ่งหน้าสู่ท่า ราชวรดิษฐ์นั้น ขณะที่เรือผ่านจังหวัดสมุทรปราการ มีลูกเสือและนักเรียนตั้งแถวเฝ้า รับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโบกพระหัตถ์รับเสียงไชโยโห่ร้องของพสกนิกร ที่ดังสนั่นหวั่นไหวไปทั่วท้องน้ำและบนฝั่งริมเจ้าพระยา ตลอดเวลาพระองค์ท่านได้ทรงใช้กล้องภาพยนตร์บันทึกภาพประชาชนด้วย

เมื่อเรือพระที่นั่งผ่านวัดลุ่ย ราษฎรที่มาเฝ้าชมพระบารมีต่างพากันร้องขอให้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเยี่ยมพระพักตร์ให้ได้เห็น พระองค์ก็ทรงพระกรุณาปฏิบัติตามพร้อมกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร พระคู่หมั้นด้วยพระพักตร์ที่สดชื่นตลอดเวลา

และในการเสวยพระกระยาหารกลางวัน บนเรือพระที่นั่ง ซึ่งทางการได้จัดไว้ บนสะพานเดินเรือในวันนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระเกษมสำราญเป็นที่ยิ่ง ทรงพระสรวลแช่มชื่นอยู่ท่ามกลางผู้ร่วมโต๊ะเสวยประกอบด้วย หม่อมเจ้านักขัตรมงคลและหม่อมหลวงบัว กิติยากร หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร และพลตรีหลวงสุรณรงค์ สมุหราชองครักษ์

ตอนที่ 16

หลังจากเรือพระที่นั่งศรีอยุธยา เทียบท่าราชวรดิษฐ์แล้ว ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ขึ้นเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินลงจากสะพานเดินเรือ โดยมีหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร พระคู่หมั้นตามเสด็จอย่างใกล้ชิด

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นประทับบนพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากรขึ้นประทับบน พระที่นั่งด้วย จากนั้นประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เฝ้าทูลละอองธุรีพระบาทกราบบังคมทูลรายงานพระราชกรณียกิจเพื่อทรงปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มีข้อความ ตอนหนึ่งว่า "โดยที่บัดนี้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ได้เสด็จมาประทับอยู่ในราชอาณาจักรแล้ว ความเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของข้าพระพุทธเจ้า ได้สิ้นสุดลงนับแต่ขณะนี้เป็นต้นไป"

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสตอบขอบพระทัยและทรงชมเชย ที่ประธานผู้สำเร็จราชการได้ปฏิบัติราชการแทนพระองค์ตลอดเวลาที่ประทับอยู่ใน ต่างประเทศ จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลรายงานเป็นอันเสร็จพิธี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินเข้าพระบรมมหาราชวัง ส่วนหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร พระคู่หมั้นนั่งรถคันเดียวกับประธาน ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ตอนที่ 17

หลังจากพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 แล้ว ข่าวที่นำความปรีดาปราโมทย์มาสู่ชาวไทยอีกครั้งหนึ่งก็คือ ทางสำนักพระราชวัง ได้รับพระราชกระแสสั่งให้จัดเตรียมการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ที่กำหนดขึ้นในวันที่ 28 เมษายน พุทธศักราช 2493 ส่วนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 4 ถึง 8 พฤษภาคม ศกเดียวกัน โดยเฉพาะในวันที่ 5 พฤษภาคมนั้น เป็น วันสำคัญที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ เถลิงถวัลยราชสมบัติ พร้อมกับทรงสถาปนาพระบรมราชินีตามราชประเพณีด้วย

ข่าวการจัดงานพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ได้สร้างความปีติยินดีแก่พสกนิกร ทั่วประเทศ สื่อมวลชนก็ได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษเช่นเดียวกัน หนังสือพิมพ์บางฉบับ ได้สืบจนทราบว่า หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร จะได้เลือกสีฟ้าสดใสซึ่งเป็นสีประจำวันเกิดสำหรับการแต่งกายแบบไทย ในวันพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส วันที่ 28 เมษายน พุทธศักราช 2493

ตอนที่ 18

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ได้เข้าสู่พระราชพิธีราชาภิเษกสมรสเฉพาะพระพักตร์สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ณ วังสระปทุม เมื่อวันที่ 28 เมษายน พุทธศักราช 2493 เวลา 09.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธยในสมุดทะเบียนสมรสเป็นพระองค์แรก หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ลงนามในลำดับต่อมา หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร ลงพระนามในฐานะบิดาผู้ให้ความยินยอมตามกฎหมาย เนื่องจากหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ยังไม่บรรลุนิติภาวะ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ราชสักขีลงนามในฐานะพยานด้วย เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี

ในวาระเดียวกันนี้ อาลักษณ์ได้อ่านประกาศสถาปนาพระอัครมเหสีขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินี มีความว่า โดยที่ได้ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ถูกต้องตามกฎหมายและราชประเพณีโดยสมบูรณ์ทุกประการแล้ว จึงมีพระบรมราชโองการให้สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ พระอัครมเหสีขึ้นเป็นสมเด็จ พระราชินีสิริกิติ์ ทรงดำรงพระอิสริยยศ และฐานันดรศักดิ์แห่งราชวงศ์นับแต่บัดนั้น

ตอนที่ 19

วันที่ 28 เมษายน พุทธศักราช 2493 หลังจากเสร็จพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ วังสระปทุมแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกมหาสมาคม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

เวลา 16.10 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินี เสด็จประทับเหนือพระราชอาสน์ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณมหินทรวิมานในพระบรมมหาราชวัง พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระชัยนาทนเรนทร ผู้แทนพระบรมวงศานุวงศ์ กราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคล ในการที่ได้ทรงประกอบพิธีราชาภิเษกสมรส

จบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำรัสตอบว่า หม่อมฉันและสมเด็จพระราชินี ขอขอบพระทัยพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลาย ที่ทรงอำนวยพรในการที่ได้ประกอบพิธีราชาภิเษกสมรสในวันนี้ หม่อมฉันรู้สึกซาบซึ้งในความอารี ที่ทรงมีแก่หม่อมฉัน ขอพระบรมวงศานุวงศ์จงทรงพระเจริญสวัสดีทุกพระองค์"

จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ เสด็จออก ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสวรรคพิมาน พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะ รัฐมนตรี คณะทูตานุทูต สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและข้าราชการเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท หลังจากพระราชทานพระราชดำรัสแจ้งการที่ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ให้ผู้มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในมหาสมาคมทราบแล้ว จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาแสดงความชื่นชมยินดี และถวายพระพรชัยมงคล

ตอนที่ 20

วันที่ 28 เมษายน พุทธศักราช 2493 เป็นวันที่พสกนิกรไทย ได้มีสมเด็จพระราชินี คู่พระราชหฤทัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชแล้ว แม้ผู้ที่ได้เข้าเฝ้าใกล้ชิดจะมีความรู้สึกต้องกันว่า สมเด็จพระราชินียังทรงพระเยาว์ยิ่งนัก เพราะมีพระชันษาน้อย แต่การที่ยังมีพระชันษาน้อย ก็มิได้เป็นอุปสรรคต่อความจงรักภักดีของประชาชน ทั้งแผ่นดิน ตรงกันข้ามความจงรักภักดีที่พสกนิกรมีต่อสมเด็จพระราชินีกลับทวีมากขึ้น เมื่อได้ประจักษ์พระราชอัธยาศัยและได้ใกล้ชิดพระอิริยาบถ

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงแสดงพระจริยวัตรอันคู่ควรแก่ความเป็นพระมิ่งแม่อยู่หัวของไทยเห็นได้เด่นชัดในวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ เป็นสมเด็จพระบรมราชินี คือความสง่าผ่าเผยและการสำรวมพระองค์ในพระราชพิธีอันเป็นมงคลนั้น มิได้ทรงสะทกสะเทิ้น เขินอายหรือทรงประหม่าแต่อย่างใด สมกับที่ได้ทรงสืบสายมาจากสุขุมาลชาติอันประเสริฐ เป็นที่สรรเสริญเจริญตาเจริญใจแก่ผู้ที่ได้พบเห็นมิใช่น้อย และจากการที่ทรงมีพระชนมพรรษาน้อย นี้เอง พระองค์จึงเป็นสมเด็จพระบรมราชินีที่มีพระชนพรรษาน้อยที่สุดในโลก

ตอนที่ 21

ถึงแม้จะทรงดำรงตำแหน่งอันสูงส่ง แต่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถก็ทรงบำเพ็ญพระองค์เช่นเดียวกับราษฎรสามัญชนเท่าที่จะเป็นได้ ขณะพระองค์ทรงอยู่ในพระราชพิธี หรือทรงต้อนรับทูตานุทูตต่างประเทศ จะทรงวางพระองค์และพระอิริยาบถตามตำแหน่งสมเด็จพระบรมราชินีนาถ แต่ในยามว่างพระราชกิจ ก็ทรงวางพระองค์เป็นกันเองกับคนทั่วไป แม้นผู้ใดบังเอิญได้เฝ้าฯ ในขณะกำลังเสวยอยู่ ก็มักจะได้รับ พระราชทานเลี้ยงอยู่เสมอ เป็นที่ประทับใจแก่ผู้ได้รับมิรู้ลืม

นอกจากจะทรงเป็นเอกอัครมเหสีแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ยังทรงเป็น นางแก้ว คู่บุญญาบารมีของพระราชสวามีโดยแท้ ทรงเป็นคู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขและถวายการปรนนิบัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นับตั้งแต่ทรงพระประชวรจาก รถพระที่นั่งประสบอุบัติเหตุในต่างประเทศ จนกระทั่งทรงหายจากประชวร และในโอกาสที่เสด็จนิวัตพระนครเพื่อเข้าสู่พระราชพิธีราชาภิเษกสมรสและบรมราชาภิเษก สมเด็จพระบรมราชชนนี ได้ทรงวางพระราชหฤทัยให้เป็นผู้ถวายการปฏิบัติแทนพระองค์ตลอดมา ด้วยความซื่อสัตย์กตัญญู และจงรักภักดี เป็นที่ประจักษ์แก่ข้าราชบริพารที่โดยเสด็จทุกคน

ตอนที่ 22

พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในเบื้องต้น ที่สำคัญ อันเป็นที่แซ่ซ้องสรรเสริญของพสกนิกรทั่วไป คือการเป็น "สมเด็จแม่" ของพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้ง 4 พระองค์ ด้วยทรงเอาพระทัยใส่ในการเลี้ยงดูด้วยพระองค์เอง อย่างใกล้ชิดสนิทสนม เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่แต่ละพระองค์ยังทรงพระเยาว์ ทรงเป็น "สมเด็จแม่แห่งชาติตัวอย่าง" ที่สตรีไทยพึงยึดถือเป็นแบบฉบับในการเลี้ยงดู พระราชโอรสและพระราชธิดา ด้วยพระกษิรธาราแก่ทุกพระองค์ จนมีพระชันษาอันสมควร ที่นายแพทย์กำหนดไว้ และทรงเลี้ยงดูอย่างมีระเบียบ เมื่อพระราชโอรสหรือพระราชธิดาทรงกระทำผิด ก็จะทรงลงพระอาญาเยี่ยงพ่อแม่โดยทั่วไป ทรงอบรมดูแลในทุก ๆ ด้าน ทั้งเรื่องของการศึกษา สุขภาพอนามัย กิริยามารยาท และการรู้จักหน้าที่ของตน จนพระราชโอรสและพระราชธิดาแต่ละพระองค์เจริญพระชนม์เติบใหญ่ ทรงสำเร็จการศึกษา และทรงรับราชการในหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติพระราชกิจและพระภาระหน้าที่ นอกจากในส่วนของแต่ละพระองค์แล้วยังทรงร่วมถวายงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ทุกพระองค์ จึงทรงเป็นเจ้านายที่ปวงชนทั่วไปชื่นชมในพระปรีชาสามารถ และพระจริยวัตรอันงดงาม

ตอนที่ 23

ช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระผนวช ในพระพุทธศาสนาตามโบราณราชประเพณี ระหว่างวันที่ 23 ตุลาคม ถึง 5 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2499 ได้มีพระบรมราชโองการแล้วแจ้งให้รัฐบาลทราบว่า ทรงแต่งตั้งให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ดำรงตำแหน่ง "ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" วันที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2499 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังสภา ผู้แทนราษฎร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงปฏิญาณตนต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่า จะซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ตามรัฐธรรมนูญทุกประการ

ในระหว่างที่ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงเป็นประธานการประชุมคณะองคมนตรี ได้ทรงลงพระนามาภิไธย ในพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งบางฉบับมีผลใช้บังคับมา จนกระทั่งถึงทุกวันนี้

ตอนที่ 24

จากการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ครั้งยังเป็นสมเด็จพระบรมราชินี ได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆทั้งในด้านการเมือง การพระศาสนา การศึกษาและด้านอื่น ๆ เป็นที่พอพระราชหฤทัย ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้น ในวันที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2499 จึงได้มี พระบรมราชโองการ ประกาศเฉลิมพระอภิไธย สมเด็จพระบรมราชินี ด้วยทรงมีพระราชดำริว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างที่ทรงพระผนวช และได้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจแทนพระองค์ ด้วยพระปรีชาสามารถสนองพระราชประสงค์เป็นที่เรียบร้อย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระอภิไธยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

นับเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์ที่ 2 ในประวัติศาสตร์ของพระบรมราชจักรีวงศ์ และเป็นพระบรมราชินีนาถ พระองค์แรกในระบอบประชาธิปไตย

ตอนที่ 25

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นขัตติยราชนารีแบบฉบับ ที่มี พระราชจริยวัตรส่วนพระองค์งามเลิศ และน้ำพระราชหฤทัยที่สุดประเสริฐ พระราชกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญในฐานะพระอัครมเหสีและพระราชชนนีของพระราชโอรส และพระราชธิดาทุกพระองค์ แสดงให้เห็นเด่นชัดถึงการบำเพ็ญเพียรตามหลักธรรม แห่งพระพุทธศาสนาในพระมงคลกถา "ภริยา ปรมา สขา" "ภรรยา นับว่าเป็นเพื่อนสนิทใกล้ชิด ร่วมทุกข์ร่วมสุขของสามี ควรได้รับบำรุงอันดี มีความนับถือยกย่อง"

จากการเสด็จพระราชดำเนินไปในที่ต่าง ๆ นั้น จะเห็นได้ว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระปรีชาสามารถยิ่งในการบริหาร โดยเฉพาะการบริหาร ราชสำนักนั้น พระองค์ได้ทรงบริหารโดยใช้หลักธรรมอันควรแก่กาลสมัย มีพรหมวิหาร 4 เป็นพื้นฐาน ทำให้ราชการที่ทรงบริหารมีประสิทธิภาพ แม้จะเป็นราชการที่เกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วน หรือภารกิจที่มีผู้คนมาเกี่ยวข้องจำนวนมาก หรือจะเป็นราชการที่ไม่เคยปฏิบัติมาก่อน ก็ได้ทรงเป็นพลังให้ข้าราชบริพารทั้งหลายปฏิบัติกันได้อย่างสุดกำลัง เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายอันเดียวกัน คือ เพื่อราชการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ตอนที่ 26

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นอกจากจะทรงเป็นแบบฉบับให้เห็นถึง วิถีชีวิตครอบครัวอันงดงาม ที่ชายหญิงดำเนินชีวิตเคียงข้างกันไปได้โดยราบรื่นส่งเสริมกันและกันในกรณียกิจทั้งปวง เพื่อความเจริญก้าวหน้าของครอบครัวแล้ว ในฐานะองค์ พระประมุขนั้น ก็มิใช่ว่าพระองค์จะทรงมีหน้าที่เฉพาะภายในพระราชวงศ์ แต่ยังทรงแผ่พระมหากรุณาไปถึงทวยราษฎร์ทั่วเขตรัฐสีมาด้วย จะเห็นได้จากในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 12 สิงหาคม พุทธศักราช 2522 ได้มีพระราชดำรัสถึงการที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ได้ถวายพระเกียรติ นำพระฉายาลักษณ์ไปสลักไว้บนด้านหนึ่งของเหรียญเซเรสว่า "การที่ข้าพเจ้ามีกำลังใจกำลังกายปฏิบัติหน้าที่รับใช้ บ้านเมือง ก็ด้วยนึกถึงคำของพ่อที่สั่งสอนไว้ตั้งแต่เด็ก และเมื่อแต่งงาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงสอนตลอดมาว่า แผ่นดินนี้มี บุญคุณแก่ชีวิตพวกเรามากมายนัก เพราะฉะนั้น ชีวิตที่เกิดมาอย่าให้ว่างเปล่า จงคอยตอบแทนให้รู้สึกเสมอว่า เป็นหนี้ บุญคุณ"

ตอนที่ 27

การที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะมุ่งมั่น และทรงตรากตรำพระวรกาย บำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่อย่างเอาจริงเอาจัง เพื่ออำนวยคุณประโยชน์แก่ชาติและอาณาประชาราษฎร์โดยมิได้ทรงย่อท้อนั้น พระองค์ได้ทรงสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดั่งพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พุทธศักราช 2522 ตอนหนึ่งว่า ทรงสั่งสอนข้าพเจ้าและลูกๆว่า เมื่อคนเขายกย่องนับถือให้เป็นประมุขมากเท่าไร ก็ต้องรู้สึกว่าเราต้องทำงานให้หนักกว่าทุกคน ต้องมีความรับผิดชอบ มีความเสียสละ……นักข่าวต่างประเทศเคยถามว่า ที่ออกเยี่ยมเยียนราษฎรนี้ ไม่รู้สึกเหนื่อยบ้างหรือ ซึ่งก็ตอบไปว่า เหนื่อยไม่ได้ เพราะบ้านเมืองของเรามีคนยากจนรอความช่วยเหลืออีกมากมายก่ายกอง…พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้ข้าพเจ้าดูแลเกี่ยวกับครอบครัว ความจริงแล้ว ตัวเองไม่มีหัวหรอกที่จะไปคิดสงเคราะห์สตรี แต่รับสั่งว่า ให้ดูแลครอบครัว ข้าพเจ้าก็เลยดูไปว่า จะช่วยเหลือเขาได้อย่างไร"

ตอนที่ 28

ในเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช 2522 สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พระราชทานพระราชานุญาต ให้นายเดนิส เกรย์ ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวเอพี เข้าเฝ้า ทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน เพื่อขอพระราชทานสัมภาษณ์ และเขียนรายงานข่าวไปทั่วโลก เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจต่างๆและพระราชปณิธาน ที่ทรงช่วยเหลือราษฎร มีพระราชดำรัสตอนหนึ่งที่น่าสนใจ และสามารถตอบข้อสงสัย ของผู้คนที่เคยคิดว่า ในยุคสมัยที่การเดินทางไปต่างประเทศเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็วและเป็นที่นิยมกัน ความในพระราชดำรัสนั้นพระองค์ทั้งทรงตอบและทรงยกย่องพระบาท-สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า "ในเรื่องเกี่ยวกับพระราชภาระอันหนัก บางครั้งเมื่อฉันเกิดเหนื่อยขึ้นมา ฉันเคยคิดว่าน่าจะได้ไปพักผ่อน ณ สถานที่บางแห่ง เช่น ฮาวายสักระยะหนึ่ง แต่แล้วพระเจ้าอยู่หัวก็มักรับสั่งกับฉันว่า จะทอดทิ้งประชาชนไปจริงๆหรือ ในยามที่ บ้านเมืองกำลังลำบากอยู่เช่นในขณะนี้ จะเห็นได้ว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงมีความเสียสละมากกว่าฉัน พระองค์ท่านทรงเป็นดวงประทีปที่ให้ความสว่างแก่ฉันตลอดมา"

ตอนที่ 29

จากการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้มีพระมหากรุณาธิคุณ มุ่งมั่นในการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ ผู้ขัดสนในชนบท ให้พ้นจากสภาพที่ขาดแคลนอย่างจริงจัง ทำให้ครั้งหนึ่งถึงกับทรง พระประชวร ดั่งพระราชดำรัสพระราชทาน ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อปีพุทธศักราช 2529 ตอนหนึ่งว่า ข้าพเจ้าล้มเจ็บครั้งนี้ เห็นจะเป็นเพราะฝืนสังขารมากเกินไป มุทำงานหนักมากเกินไป จะให้ถึงจุดประสงค์ตั้งใจจะให้ไปถึงราษฎรยากจนที่ถิ่นทุรกันดารให้มากที่สุด ให้มีปัจจัยสี่ครบ ให้เจริญทันกับส่วนกลางของบ้านเมือง ให้ลูกหลานเขาได้รับการศึกษา ข้าพเจ้าตั้งใจจะให้ราษฎรมีหมู่บ้านเบ็ดเสร็จ มีการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ มีธนาคารข้าว เรียกว่าอยู่ดีกินดี แล้วก็พ้นจากการ เจ็บป่วย ที่มีสาเหตุมาจาก การอดอยากขาดอาหาร ข้าพเจ้าเห็นว่าทุกนาทีมีค่า ก็อยากใช้ทุกนาทีให้มีประโยชน์มากที่สุดจริง ๆ"

ตอนที่ 30

ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแต่ละครั้ง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จะทรงได้รับการสดุดีจาก ทุกประเทศ ด้วยคำถวายพระเกียรติอย่างจริงใจและศรัทธาว่า พระองค์ทรงมี พระบุคลิกภาพ และพระราชจริยวัตรอันงดงามยิ่ง

หนังสือพิมพ์สตาร์บุลเลติน แห่งฮอนโนลูลู สดุดีว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถของไทย ทรงมีความงามประหนึ่งตุ๊กตาที่อาจชนะตำแหน่ง ราชินีแห่งราชินี หากมีการประกวดพระราชินีกันขึ้น"

ผู้สื่อข่าวในฮาวายได้กราบบังคมทูลถามถึงความรับผิดชอบของพระองค์ และฐานะพระราชชนนีแห่งสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงชาย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้มีพระราชดำรัสตอบว่า ทรงพอพระราชหฤทัยในพระราชกิจต่าง ๆ ในฐานะ พระราชินี แต่ทว่า ทรงรักที่จะเป็นแม่มากที่สุด

ตอนที่ 31

ในระหว่างการเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกา หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ของสหรัฐอเมริกาฉบับวันที่ 27 มิถุนายนพุ ทธศักราช 2503 ลงพิมพ์ข้อความตอนหนึ่งว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจทั้งสองประการ ทรงเป็นทั้งสมเด็จพระบรมราชินีนาถ และพระราชมารดาของสมเด็จเจ้าฟ้าทั้งสี่พระองค์อย่างสมบูรณ์ยิ่ง"

และในงานเลี้ยงถวายพระกระยาหาร ณ โรงแรมเมย์ฟลาวเวอร์ในกรุงวอชิงตัน นักข่าวสังคมได้ถวายพระสมัญญาว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ แห่งประเทศไทย ทรงเป็นพระสุวรรณเทวี (The Golden Girl) พระองค์ทรงชุดไหมสีทอง บนพระอังสา(บ่าหรือไหล่)ทรงกลัดเข็มครุฑประดับเพชร ผู้มีเกียรติที่ไปร่วมในพิธีต่างสดุดีว่า พระองค์ทรงสิริโสภาพรรณวิไล"

ขณะที่หนังสือพิมพ์ดิโพลแมท ของสหรัฐอเมริกา ได้ยกคำกล่าวของประธานาธิบดีซูการ์โน แห่งอินโดนิเซียที่สดุดีว่า "ทรงเป็นพระราชินีสิริโสภาที่สุดในโลก" มาลงพิมพ์ถวายพระเกียรติยศด้วย

ตอนที่ 32

นอกจากสื่อมวลชนในสหรัฐอเมริกาจะได้ลงพิมพ์ภาพข่าวและข้อความถวาย พระเกียรติยศ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในระหว่างการเสด็จเยือนแล้ว ในการเสด็จเยือนประเทศอังกฤษ หนังสือพิมพ์ในกรุงลอนดอนถวายสดุดีว่า ทรงเป็นพระราชินีที่สดใส ท่ามกลางสายพระพิรุณ" ขณะที่หนังสือพิมพ์เดลิมีเรอร์ ได้พาด หัวข่าวว่า พระราชินีผู้ทรงโฉมของเมืองไทย" บรรจุไว้ในหน้ากลางและอีกหลายฉบับแพร่สะพัดด้วยประโยคอันประทับใจว่า แม้พระสุริยเทพ ก็ทรงพระสรวลลงมายัง พระองค์ ผู้ทรงไว้ซึ่งฉัตรสุวรรณ"

เดลิเกทซ์ หนังสือพิมพ์อีกฉบับหนึ่งของอังกฤษสดุดีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถว่า พระราชินีแห่งความงาม" และเน้นอีกว่า ทรงเป็นพระราชินีผู้มีพระฉวีวรรณล้ำเลิศ ทรงแย้มพระสรวลเสมอ ทรงมีพระเกศาและพระเนตรสีนิล" พร้อม ๆ กับคำบรรยายพระฉายาลักษณ์อีกว่า เราขอต้อนรับพระราชินีผู้ทรงมีพระสิริโฉมงดงาม สว่างไสว แม้แต่กลางวันที่มืดมัวก็กระจ่างแจ้งได้"

ตอนที่ 33

ในระหว่างการเสด็จประพาสยุโรป โดยเฉพาะที่ประเทศเยอรมันตะวันตกนั้น หนังสือพิมพ์ ไดเว็ลท์ รายวันในกรุงบอนน์ ลงข่าวไว้อย่างน่าประทับใจยิ่งตอนหนึ่งว่า "ผู้มีเกียรติและบุคคลอื่นๆที่ไปร่วมในพิธีการรับเสด็จ ต่างมีความมุ่งหมายอย่างเดียวกันคือ จะได้แลเห็นพระสิริโฉมอันงดงามของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ฉลองพระองค์สีขาวประทับเคียงข้างประธานาธิบดีลุปเก้แห่งเยอรมนี พร้อมด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีพระสิริโฉมเป็นเสน่ห์ราวเทพธิดา งดงาม ห่างไกลจากเทพนิยาย และทรงประทับอยู่ด้วยความสง่าบนพรมผืนมหึมา แวดล้อมด้วย ผู้มีเกียรติที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จ การแย้มพระสรวลของพระองค์ ได้แปลงความรู้สึกของผู้ที่ได้พบเห็น จากความนับถือด้วยความสุภาพธรรมดา เป็นความรู้สึกด้วยความจริงใจ และนี่แหละคือ …พระเกียรติคุณแห่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถของประเทศไทย

ตอนที่ 34

การเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาและภาคพื้นยุโรป 14 ประเทศ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งใช้เวลาราว 4 เดือนนั้น นอกจากจะทำให้นานาชาติรู้จักประเทศไทยดีขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้ชาวโลกได้รู้จักความงดงามของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถของปวงชนชาวไทยเป็นอย่างดียิ่ง โดยที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญการออกแบบเครื่องแต่งกายสตรีของโลก จำนวน 2,000 คน ได้ออกเสียงเมื่อวันที่ 4 มกราคม พุทธศักราช 2505 เลือกสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นสตรีที่แต่งพระองค์งามที่สุดในโลกผู้หนึ่งในจำนวนสุภาพสตรีของโลกทั้งหมด 10 คน และนับเป็นปีที่สองที่พระองค์ทรงได้รับเลือกเป็นสตรี ที่แต่งพระองค์งดงามที่สุดของโลกมาแล้ว เมื่อปีพุทธศักราช 2503 โดยฉลองพระองค์ ที่ทรง ส่วนใหญ่จะเป็นผ้าไหมไทยเงางาม ที่ถูกออกแบบให้สอดคล้องกับการแต่งกาย ของชาวตะวันตกได้อย่างแนบเนียน

ตอนที่ 35

สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ นอกจากจะทรงมีพระสิริโฉมงดงาม ที่สุดแล้ว ยังทรงมีคุณลักษณะอันเลอเลิศเพียบพร้อม แม้พระอิริยาบถจะดูว่าทรง อ่อนช้อย แต่ก็ทรงไว้ซึ่งความเข้มแข็งดุจเหล็กกล้า ยามประพาสป่า ทรงฉลองพระองค์ ในชุดธรรมดา ทรงกล้าเสด็จฯ ไปในท้องถิ่นทุรกันดาร และมีโรคติดต่อร้ายแรงระบาดอยู่ ทรงทักทายผู้ป่วยโรคเรื้อนและทรงกล้าหาญเสด็จพระราชดำเนินไปยังชายแดนที่มีการโจมตีของ ผู้ก่อการร้าย โดยไม่ทรงประหวั่นพรั่นพรึงต่ออันตราย เพียงเพื่อจะได้ปลอบขวัญ ดูแล ให้กำลังใจแก่ทหารหาญ และตำรวจตระเวนชายแดนของชาติ ทั้งตรัสปลอบ พยาบาล และทรงป้อนอาหารแก่ผู้ได้รับบาดเจ็บจากการโจมตีของผู้ก่อการร้าย เหล่านี้…เป็นภาพที่แตกต่างอย่างคาดไม่ถึง เมื่อจะเปรียบกับภาพสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ขณะประทับอยู่ในพระบรมหาราชวัง

ตอนที่ 36

การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในชนบททั่วทุกภูมิภาคนับแต่ พุทธศักราช 2498 โดยเริ่มที่ตำบลห้วยมงคล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นจุดแรกนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระชนมพรรษา 28 พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระชนมพรรษา 22 พรรษาเท่านั้น แต่ทั้งสองพระองค์ทรงมุ่งมั่นที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่ประเสริฐ ที่สำคัญคือ ทรงมีโอกาสได้ศึกษาสภาพท้องถิ่น ชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณี และศิลปวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นด้วยพระองค์เอง ทรงวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าว แล้วพระราชทานพระราชดำริริเริ่มโครงการที่หลากหลาย โดยในขณะที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการพัฒนาด้านการเกษตร และการทำมาหากินของราษฎรในพื้นที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ก็ทรงมีคำแนะนำพระราชทานเพื่อการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของ ชาวบ้านควบคู่กันไปเสมอ เป็นที่ประจักษ์ได้ว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นคู่ พระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยแท้

ตอนที่ 37

ด้วยทรงตั้งพระราชหฤทัยแน่วแน่ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ราษฎร และทรง ยึดมั่นในพระราชปณิธานที่ว่า "ทุกข์สุขของราษฎร คือทุกข์สุขของพระองค์เอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระมหากรุณาริเริ่มโครงการพัฒนาด้านต่าง ๆ หลายโครงการ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ก็ทรงพระมหากรุณาพัฒนาอาชีพและความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานของราษฎร โดยเฉพาะเรื่องของงานฝีมือพื้นบ้าน หรือหัตถกรรมในครัวเรือน เพื่อช่วยเสริมรายได้ให้ครอบครัวอีกทางหนึ่ง ด้วยทรงตระหนักว่า คนไทยมีฝีมือด้านการช่างเป็น เอกลักษณ์ประจำตน และแต่ละท้องถิ่นก็มีศิลปะ เป็นเอกลักษณ์ประจำภาคอยู่แล้ว กอปรกับพระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยศึกษางานศิลปะอย่างจริงจังและสม่ำเสมอมาเป็นเวลาช้านาน ดังนั้น จึงทรงส่งเสริมและฟื้นฟู งานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านที่นับวันแต่จะสูญหายไปตามกาลเวลา ให้กลับมามีชีวิต และวิญญาณอีกครั้งหนึ่ง นับเป็นการอนุรักษ์ศิลปะอันล้ำค่าของชาติให้ดำรงคงอยู่ปรากฏเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยและเป็นความชื่นชมของชาวโลกได้อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง

ตอนที่ 38

กระแสพระราชดำรัสเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 12 สิงหาคม พุทธศักราช 2532 ได้แสดงถึงความที่พระองค์ ทรงภาคภูมิใจว่า คนไทยมีสายเลือดของช่างฝีมืออยู่ทุกคน มีความละเอียดอ่อนและฉับไวในการรับศิลปะทุกชนิด เพียงแต่ให้เขาเหล่านั้นมีโอกาสเรียนรู้และฝึกฝนเท่านั้น พระองค์จึงทรงส่งเสริมงานหัตถกรรมในครัวเรือน โดยเฉพาะด้านการช่างและศิลปะ ซึ่งมี ความงดงามแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น โดยระยะแรกมีโครงการฝึกอบรมประดิษฐ์ สิ่งของจากป่านศรนารายณ์ ที่จังหวัดเพชรบุรี, โครงการดอกไม้ประดิษฐ์ ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, โครงการสนับสนุนการทอผ้าไหมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, โครงการทอผ้าฝ้ายในภาคใต้, โครงการปั้นตุ๊กตาไทยหรือตุ๊กตาชาววังที่จังหวัดอ่างทอง และโครงการจักสานย่านลิเพาที่จังหวัดนราธิวาส เป็นต้น ทั้งนี้นอกจากจะทรงส่งเสริม และสนับสนุนให้ชาวบ้านผลิตผลงานออกมาแล้ว ยังทรงรับซื้องานเหล่านั้นไว้ด้วย พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และทรงหาตลาดทั้งภายในและต่างประเทศไว้รองรับอีกด้วย พระมหากรุณาธิคุณเป็นที่ล้นพ้นหาที่สุดมิได้

ตอนที่ 39

พระราชกรณียกิจในการสร้างสรรค์งานวัฒนธรรมของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีอย่างต่อเนื่องตลอดมา แม้แต่ก่อนหน้าพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส เมื่อพุทธศักราช 2493 พระฉายาลักษณ์ที่ทรงฉายในโอกาสรับเสด็จพระบาทสมเด็จ- พระเจ้าอยู่หัว ที่วังเทเวศน์ในฐานะที่ทรงเป็นพระคู่หมั้นนั้น ทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าซิ่นพื้นเมือง เช่น ผ้าไหมหรือผ้าซิ่นมัดหมี่ และภายหลังพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสแล้ว ในการเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีต่าง ๆ ก็จะฉลองพระองค์แบบไทยหรือใช้ผ้าไทยตัดเย็บแบบสากลเสมอ ความนิยมไทยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จึงเป็นแบบอย่างที่สร้างกระแสให้การแต่งกายแบบไทยและการใช้ผ้าไทยได้ขยายวงกว้างขึ้นในสังคม เกิดเป็นกระแสพระราชนิยม จนกล่าวได้ว่าพระองค์ได้ทรงมีส่วนอย่างสำคัญในการช่วยธำรงและเชิดชูเอกลักษณ์ความเป็นไทยให้ดำรงอยู่ตราบจนปัจจุบัน

ตอนที่ 40

ในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปและสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ เมื่อพุทธศักราช 2503 ได้พระราชทานพระราชดำริว่า สมควรที่จะสรรค์สร้างการแต่งกายชุดไทย ให้เป็นไปตามประเพณีที่ดีงาม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้มีการศึกษาค้นคว้าเครื่องแต่งกายสมัยต่าง ๆ จากพระฉายาลักษณ์ของเจ้านายฝ่ายใน และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์ แต่ให้มีการปรับปรุงพัฒนาให้เหมาะสมกับ กาลสมัย ทรงเสนอรูปแบบที่หลากหลาย และได้ฉลองพระองค์เป็นแบบอย่าง ทั้งได้ พระราชทานให้ผู้ใกล้ชิดแต่งและเผยแพร่ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เรียกกันโดยทั่วไปว่า "ชุดไทยพระราชนิยม มี 8 ชุด คือ ชุดไทยเรือนต้น ชุดไทยจิตรลดา ชุดไทยอมรินทร์ ชุดไทยบรมพิมาน ชุดไทยจักรี ชุดไทยดุสิต ชุดไทยจักรพรรดิ์ และชุดไทยศิวาลัย ชุดไทยพระราชนิยมเหล่านี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงใช้ในโอกาส และสถานที่ต่าง ๆ จนเป็นที่รู้จักแพร่หลายและชื่นชมกันทั่วไป ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ

ตอนที่ 41

ภายหลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมให้จัดสรรที่ดินที่หุบกะพง และจัดระบบการเพาะปลูกจนเป็นผลสำเร็จแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เริ่มต้นงานส่งเสริมและฟื้นฟูหัตถกรรมพื้นบ้าน เป็นการสร้างอาชีพเสริมให้แก่ราษฎรกลุ่มแม่บ้านหุบกะพงอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นแห่งแรก โดยทรงแนะนำให้กลุ่มแม่บ้าน ฯ เข้ารับการอบรมการประดิษฐ์เครื่องใช้ จากป่านศรนารายณ์ ซึ่งเป็นต้นไม้ที่ขึ้นง่ายในพื้นดินปนทราย หลังจากนั้นชาวบ้านสามารถประดิษฐ์กระเป๋า หมวก เข็มขัด รองเท้า และอื่น ๆ ที่ทำจากป่านศรนารายณ์ เป็นสินค้าออกจำหน่ายได้ จนเป็นที่นิยมกันโดยทั่วไป งานศิลปประดิษฐ์ดังกล่าว นอกจากจะเป็นอาชีพเสริมของชาวบ้านแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้ คนไทยหันมาใช้สินค้าที่เป็นหัตถกรรมฝีมือคนไทย ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงพระเมตตาพระราชทาน พระราชวินิจฉัย อันกอปรด้วยพระประสบการณ์ จึงก่อเกิดเป็นโครงการหลากหลาย ที่ล้วนอำนวยประโยชน์แก่การดำรงชีพของคนไทยในทุกภาคของประเทศ

ตอนที่ 42

จากจุดเริ่มต้นงานด้านการสร้างอาชีพเสริมแก่ราษฎรในโครงการฝึกอบรมประดิษฐ์สิ่งของป่านศรนารายณ์ ในช่วงปีพุทธศักราช 2514-2515 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงตระหนักว่า งานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านมีอยู่ทั่วทุกภูมิภาค จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ฟื้นฟูความสามารถของชาวบ้านในท้องถิ่น ด้วยการจัดครูไปฝึกอบรมและพระราชทานวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต ดังนั้น งานทอผ้าฝ้ายที่อำเภอเขาเต่า การผลิตดอกไม้ประดิษฐ์ที่นิคมอ่าวน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หัตถกรรมจักสานย่านลิเพา และการสานเสื่อกระจูดในภาคใต้ รวมทั้งการทอผ้าไหม ผ้าฝ้ายในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่สวยงามและเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางจนปัจจุบัน จึงล้วนแล้วแต่มาจากพระปรีชาญาณในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงพระมหากรุณาปฏิบัติพระราชภารกิจตาม พระราชดำริที่ว่า "คนไทยแต่ละภาคต่างก็มีฝีมือและความสามารถพร้อมจะพัฒนาชาติให้รุ่งเรือง การส่งเสริมงานศิลปาชีพจึงได้บังเกิดขึ้นในทั่วทุกภาคของผืนแผ่นดินไทยในเวลาต่อมา

ตอนที่ 43

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงริเริ่มให้มีการฟื้นฟูและพัฒนางานหัตถกรรมพื้นบ้านทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยเริ่มแรกทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมให้หาครูหรือผู้เชี่ยวชาญงานด้านต่าง ๆ เช่น การทำเครื่องเงิน เครื่องทอง การทอผ้า การจักสาน จากนั้นโปรดให้สร้างโรงฝึกเรียนภายในเขตพระราชฐาน โดย พระราชทานอุปกรณ์ วัสดุ และชักชวนราษฎรที่ยากจนให้มาฝึกอาชีพ กับพระราชทานกำลังใจและคำแนะนำหลายประการด้วยพระอุตสาหะวิริยะที่จะทรงช่วยเหลือแบ่งเบาภาระความทุกข์ยากของราษฎรให้จงได้ จนในที่สุดมีผู้สนใจมากขึ้นตามลำดับ ระยะแรก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชเสาวนีย์ให้ข้าราชบริพารในพระองค์ รับผิดชอบโครงการ เรียกกันว่า โครงการศิลปาชีพพิเศษ" และดำเนินการจัดตั้งกลุ่ม ศิลปาชีพด้านต่าง ๆ ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และด้วยเงินที่มีผู้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงใช้จ่ายในโครงการนี้ ต่อมาเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2519 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ก่อตั้ง มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ" ขึ้น โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงคิดชื่ออันเป็นมงคลนี้ถวาย.

ตอนที่ 44

ด้วยพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะทรงช่วยเหลือราษฎรผู้ยากไร้ในชนบทให้มีงานทำ มีรายได้เสริม พุทธศักราช 2521 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างอาคารศูนย์ศิลปาชีพขึ้นภายในเขตพระราชฐาน สวนจิตรลดา เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอนศิลปาชีพแขนงต่าง ๆ เป็นศูนย์กลางการผลิตผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพจากราษฎรทั่วประเทศ และเป็นศูนย์กลางเผยแพร่งาน ศิลปาชีพแก่ผู้สนใจทั้งชาวไทย ชาวต่างประเทศ รวมทั้งยังโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นำพระราชอาคันตุกะ เจ้านาย พระราชวงศ์ ภริยาประมุขของประเทศต่าง ๆ เยี่ยมชมศูนย์ศิลปาชีพในสวนจิตรลดา ซึ่งถือเป็นการนำของดีมีคุณค่าของไทยไปอวดสายตาชาวต่างประเทศ และช่วยเผยแพร่เกียรติภูมิของชาติให้ปรากฏได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนั้น ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างโรงฝึกในเขตพระราชฐานทุกแห่งที่เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรม เพื่อเยี่ยมเยียนราษฎรและเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอนตลอดจนการผลิตงานศิลปาชีพในท้องถิ่นนั้น ๆ นับเป็น พระราชกรณียกิจที่เกิดจากพระเมตตาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งเป็นที่ประจักษ์กัน โดยทั่วไป.

ตอนที่ 45

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับเป็นองค์ประธานมูลนิธิส่งเสริม ศิลปาชีพฯ พร้อมทรงรับมูลนิธิฯ ไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นอกจากนั้น ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน หนึ่งล้านบาท เป็นทรัพย์สินเริ่มต้นของมูลนิธิฯ ซึ่งต่อมาสำนักราชเลขาธิการ จัดตั้ง กองศิลปาชีพ ขึ้นในสำนักราชเลขาธิการ เมื่อพุทธศักราช 2528 เพื่อรับผิดชอบในการดำเนินงานร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในการจัดหาอาชีพเสริมให้แก่ราษฎรที่ยากจนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ นอกจากนั้น ยังเพื่อธำรงรักษาและฟื้นฟูหัตถกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานฝีมือที่สืบทอดมาแต่ ครั้งบรรพบุรุษและกำลังจะเสื่อมสูญไปตามกาลเวลา สำนักงานของมูลนิธิฯ ตั้งอยู่ ณ สวนจิตรลดา และเนื่องจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงถือหลักการสร้างของเล็กไปหาใหญ่โดยมีอุทาหรณ์จากความเพียรของผึ้งที่ทำรัง ดังนั้น จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ แต่ยิ่งใหญ่และทรงพลังด้วยพระเมตตาบารมี จึงมีการสร้างและขยายกิจการไปสู่ โรงฝึกศิลปาชีพ สวนจิตรลดา" ในเวลาต่อมา.

ตอนที่ 46

จากจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การส่งเสริมและพัฒนางานฝีมือและหัตถกรรมด้านต่าง ๆ โรงฝึกศิลปาชีพ สวนจิตรลดา" สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2522 หลังจากทรงคัดเลือกสมาชิกจากครอบครัวราษฎรที่ยากจนทั่วประเทศ และทรงเสาะหาผู้มีความชำนาญ ในงานฝีมือแขนงต่าง ๆ มาถ่ายทอดวิชาให้แก่ราษฎรเหล่านั้น โดยอาศัยวัสดุท้องถิ่นแล้ว ทั้งสองฝ่ายต่างมีความตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความพากเพียร จนได้ผลผลิตเป็นงาน ซึ่งสะท้อนศิลปวัฒนธรรมของชาติไทยในอดีตจนเป็นที่รู้จักของคนในยุคปัจจุบันได้อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 4 รอบ มีพระราชดำริที่จะทำประโยชน์ให้แก่ประชาชนในภาคกลาง ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงเกิดขึ้นโดยถือเอาวันที่ 12 สิงหาคม พุทธศักราช 2523 ซึ่งเป็นวันที่ลงเสาเขตทุกมุมของที่ดินพระราชทาน เป็นวันตั้งศูนย์ฯ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ ฯพณฯ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี และ รองประธานมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบดำเนินงาน ซึ่งนอกจากจะเป็นสถานที่ฝึกอบรมศิลปาชีพแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีผู้สนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเดินทางไปเยี่ยมเยียน เป็นจำนวนมาก.

ตอนที่ 47

ศูนย์ศิลปาชีพบ้านกุดนาขาม ตำบลเจริญศิลป์ อำเภอเจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ก่อกำเนิดขึ้นจากพระอัจฉริยภาพอันเป็นเลิศในด้านการสร้างสรรค์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ด้วยทรงทราบว่าราษฎรบ้านกุดนาขามเป็นผู้มีคุณธรรม มีความสมัครสมานสามัคคี แม้จะมีฐานะยากจน จึงมีพระราชประสงค์ที่จะให้บ้านกุดนาขามเป็นหมู่บ้านตัวอย่างที่คนในหมู่บ้านมีอาชีพเสริมหลังจากสิ้นฤดูทำนาแล้ว โดยตั้งพระราชหฤทัยที่จะฟื้นฟูศิลปะการประดิษฐ์เครื่องปั้นดินเผา เนื่องจากอีสานเคยเป็นดินแดนที่มีประวัติความงดงามในด้านเครื่องปั้นดินเผา มาก่อน โดยเฉพาะศิลปะเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง ซึ่งเป็นอารยธรรม ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วไป และทรงแนะนำให้ถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของท้องถิ่นลงบนเครื่องปั้นดินเผาเหล่านั้น เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา และสืบทอดต่อไป ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อชาวบ้านกุดนาขาม ได้ทรง พระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นำผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาดังกล่าวไปเผยแพร่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้เครื่องปั้นดินเผาบ้านกุดนาขามเป็นที่รู้จักกันไป ทั่วโลก ยังความปลื้มปีติแก่ราษฎรบ้านกุดนาขามเป็นอย่างยิ่ง.

ตอนที่ 48

งานศิลปาชีพแต่ละสาขา ล้วนเกิดจากพระราชดำริ และพระวิริยะอุตสาหะทั้งสิ้น ทุกครั้งที่เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ ภูมิภาคต่าง ๆ จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมและดูแลทุกข์สุขของราษฎรมิได้ขาด ทรงใช้เวลาทอดพระเนตรผลงานฝีมือของชาวบ้านครั้งละนาน ๆ ทรงเข้าพระทัยและพระราชทานกำลังใจพวกเขาเหล่านั้นอยู่เสมอ โดยมีพระราโชบายว่าให้ทำตามความสามารถที่มีอยู่ ไม่ไปเร่งรัดในเรื่องคุณภาพมากนัก ต่อเมื่อถึงเวลาสมควรจึงจะดูแลในเรื่องนี้ต่อไป และนอกจากจะทรงบริหารงานมูลนิธิ ส่งเสริมศิลปาชีพฯ แล้ว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ยังทรงพยายามทุก วิถีทางที่จะช่วยให้เกิดความนิยมในผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ ให้ประชาชนทั้งชาวไทยและ ชาวต่างประเทศได้เห็นความงดงามที่มีคุณค่า และอุดหนุนงานฝีมือเหล่านั้น โดยจะทรง พระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นำผลิตภัณฑ์จากโครงการศิลปาชีพไปแสดง ในงานทั้งภายในประเทศ เช่น งานศิลป์แผ่นดิน งานสืบสานสมบัติศิลป์ งานรังสรรค์ ปั้นแต่ง และงานศิลปาชีพในต่างประเทศ เช่น ในสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น เป็นต้น นอกจากนั้นยังเปิดจำหน่ายเป็นการกุศล ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา ในโอกาสต่าง ๆ รวมทั้งเปิดร้านจิตรลดาอีกหลายสาขา อาทิ ในพระบรมมหาราชวัง พระที่นั่งวิมานเมฆ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานกรุงเทพฯ ซึ่งช่วยให้ ผลิตภัณฑ์จากฝีมือราษฎรในโครงการศิลปาชีพแพร่หลายมากยิ่งขึ้น.

ตอนที่ 49

จากการที่ทรงทุ่มเทพระวรกาย เสียสละพระราชทรัพย์ ประกอบกับพระอัจฉริยภาพที่ทรงมองเห็นคุณค่าความงดงามของศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านจนเป็นที่ประจักษ์กัน โดยทั่วไป นานาประเทศต่างยกย่องพระเกียรติคุณสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ให้ปรากฏมากมาย อาทิ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พุทธศักราช 2522 องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหรียญเซเรส ซึ่งเป็นเหรียญ ที่จัดทำขึ้นเพื่อยกย่องสตรีผู้อุทิศชีวิตและงานเพื่อช่วยยกระดับและสถานภาพของสตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบท รวมทั้งผลิตและจำหน่ายเหรียญดังกล่าวไปทั่วโลกโดยนำกำไรไปใช้ในโครงการพัฒนาชนบทของประเทศกำลังพัฒนา พุทธศักราช 2528 สมาคมเอเชียได้ทูลเกล้าทูกระหม่อมถวายรางวัลด้านมนุษยธรรม เพื่อเทิดพระเกียรติในฐานะที่ทรงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยและทรงยกฐานะความ เป็นอยู่ของสตรี พุทธศักราช 2534 กลุ่มผู้สนับสนุนพิพิธภัณฑ์เด็กแห่งกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศ สดุดีพระเกียรติคุณที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่าง ๆ และเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พุทธศักราช 2545 สมาคม ส่งเสริมวิชาการด้านศิลปะ วิทยาศาสตร์ และอักษรศาสตร์ ของสาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายประกาศนียบัตรเหรียญทองพร้อมโล่เกียรติยศ เพื่อประกาศเกียรติคุณในฐานะที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในการพัฒนาศิลปหัตถกรรมไทยเข้าสู่ระดับนานาชาติ.

ตอนที่ 50

จากจุดแรกกำเนิดของพระราชกรณียกิจด้านศิลปหัตถกรรมที่ล้ำค่าเมื่อกว่า 30 ปีที่ผ่านมา ณ บ้านหุบกะพง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี งานศิลปาชีพได้แผ่กิ่งก้านสาขาไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ช่วยให้ประชาชนที่ประสบความทุกข์ยากเดือดร้อนมีอาชีพเสริม มีรายได้เพิ่ม และบางครอบครัวยึดเป็นอาชีพหลักที่มั่นคงต่อไป ทั้งนี้ ด้วยน้ำพระราชหฤทัยห่วงใยราษฎรจึงทรงมองเห็นคุณค่าที่งดงามของศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านแต่ละภาคที่แฝงอยู่ในวิถีชีวิตผู้คน จนอาจกล่าวได้ว่า ศิลปาชีพ ได้ช่วยดึงความสามารถของราษฎรผู้ยากไร้ในท้องถิ่นต่าง ๆ ที่บางครั้งไม่มีผู้ใดมองเห็น แต่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงมองเห็นด้วยพระอัจฉริยภาพและทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวเนื่องกับงาน ศิลปาชีพด้วยพระวิริยะอุตสาหะ ทรงช่วยลดช่องว่างระหว่างชนบทกับเมือง ทรงช่วยกระจายรายได้ไปสู่ราษฎรอย่างทั่วถึง ทรงช่วยให้คนชนบทสามารถพึ่งตนเองได้และทรงช่วยยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ที่สำคัญคือ ทรงช่วยให้มีการ สืบทอดศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านที่เป็นประดุจวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นนั้น ๆ ให้เป็นมรดกแก่ลูกหลานไทยสืบต่อมา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรไทยอย่างหาที่สุดมิได้.

ตอนที่ 51

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชดำริว่า งานศิลปหัตถกรรม พื้นบ้านมีอยู่หลากหลายทั่วทุกภูมิภาค จึงทรงส่งเสริมและพระราชทานวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต รวมทั้งทรงฟื้นฟูความสามารถของชาวบ้านที่ทอดทิ้งความรู้มานาน ให้กลับมาประดิษฐ์งานของแต่ละท้องถิ่นให้มากขึ้น ในเรื่องการทอผ้า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ราษฎร อำเภอเขาเต่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทอผ้าฝ้าย โดยทรง จัดหาครูทอผ้าจากจังหวัดราชบุรี ซึ่งมีชื่อในการทอผ้าบ้านไร่มาสอน เมื่อเสด็จแปร พระราชฐานไปประทับ ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส ได้พระราชทานกี่ทอผ้า เส้นฝ้ายและอุปกรณ์ทอผ้าให้ชาวบ้านอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ทอผ้าฝ้ายเป็นอาชีพเสริม และโปรดให้ครูจากเกาะยอ จังหวัดนราธิวาส ไปสอนการทอผ้าลายริ้ว และด้วยพระราชดำริว่า ดอกไม้ประจำจังหวัดนราธิวาส คือดอกตันหยง หรือดอกพิกุล ดังนั้นผ้าที่ทอจากจังหวัดนี้ น่าจะมีลวดลายเป็นดอกพิกุล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ครูจากคุ้มเจ้าพงศ์แก้ว ณ ลำพูน มาเป็นครูสอนการทอผ้าลายดอกพิกุลแบบลำพูนเพิ่มเติมด้วย.

ตอนที่ 52

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระมหากรุณาธิคุณแก่พสกนิกร ทุกหนแห่งเสมอเหมือนกัน ไม่ว่าจะเสด็จพระราชดำเนินไปในท้องถิ่นใด จะพระราชทานพระราชดำริในการฟื้นฟูและอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านที่เหมาะสมแก่ท้องถิ่นนั้น ๆ เมื่อเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ส่งเสริมอาชีพการทอผ้าและปักผ้า แบบปักซอยขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปยัง จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ทอดพระเนตรเห็นราษฎรชาวภูไท แต่งกายชุดพื้นเมืองห่มสไบแพรวาไหมยกดอกสีแดง อันเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมให้อนุรักษ์ฟื้นฟูและส่งเสริมการทอผ้าแพรวาขึ้นที่บ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ และพัฒนาให้เหมาะสมกับยุคสมัย ซึ่งแต่เดิมผ้าแพรวามีเพียงสีแดงเป็นพื้น ก็ทรงให้ใช้สีอื่น ๆ ยืนพื้นด้วยแล้วสลับสีลายดอกให้มีความหลากหลาย นอกจากนั้นยังพระราชทานคำแนะนำให้ขยายจากการทอผ้าสไบ เป็นผ้าขนาดกว้าง และยาวผืนละ 5 เมตรขึ้นไป เพื่อให้เพียงพอสำหรับการตัดเย็บ ด้วยสายพระเนตร ที่ยาวไกล ราษฎรจึงมีอาชีพเสริมที่มั่นคงในทุกพื้นที่.

ตอนที่ 53

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพบว่าในอดีตภาคเหนือเคยมีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านการคิดประดิษฐ์การถักทอผ้าที่งดงามแห่งหนึ่ง เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าตีนจกของศรีสัชนาลัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ฟื้นฟูการทอ ผ้าไหม ผ้ายก ผ้าตีนจก และผ้าฝ้ายเนื้อหนา โดยหาคนเฒ่าคนแก่มาถ่ายทอดศิลปะ การประดิษฐ์ผูกลวดลาย และทรงจัดส่งผู้ชำนาญการย้อมผ้าไปแนะนำ นอกจากนั้น ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งโรงฝึกงานเครื่องปั้นดินเผา ที่บ้านแม่ต๋ำ อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง ด้วยทรงพบว่าบริเวณดังกล่าวมีดินขาว ที่มีคุณภาพ โครงการนี้มีความก้าวหน้าและราษฎรยึดเป็นอาชีพมาจนทุกวันนี้ ในส่วนของชาวไทยภูเขา ทรงพบว่ามีศิลปะปักผ้าเป็นลวดลายละเอียด สีสันงดงามสืบทอดมา หลายชั่วอายุคน จึงทรงส่งเสริมสนับสนุน และทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าปักของชาวไทยภูเขาหลายครั้ง เพื่อให้ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรม การแต่งกาย ของตนและเห็นคุณค่าที่จะธำรงรักษาให้คงอยู่ต่อไป นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ แก่ราษฎรภาคเหนือเป็นอย่างยิ่ง.

ตอนที่ 54

ผ้าไหมมัดหมี่เป็นศิลปะพื้นบ้านของคนภาคอีสานที่ทอกันมาในอดีต แต่ระยะหลังเสื่อมความนิยมไปตามกาลเวลา เพราะทำยากและใช้เวลานาน เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปทรงเยี่ยมราษฎร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ทอดพระเนตรเห็นหญิงชาวบ้านนุ่งซิ่นไหมมัดหมี่กันทุกพื้นที่ ทรงพอพระราชหฤทัยในความงดงามของผ้าไหมมัดหมี่เป็นอย่างมาก ต่อมาทรงทราบว่าราษฎรทอผ้าไหมมัดหมี่ใช้แต่เพียงในครัวเรือนไม่ได้จำหน่ายเพราะราคาไม่ดี จึงทรงตระหนักในพระราชหฤทัยว่า ควรจะส่งเสริมให้ชาวบ้านทำงานฝีมือที่คุ้นเคยคือ การทอผ้าไหมมัดหมี่เป็นอาชีพเสริม จึงทรงให้ชาวบ้านปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และโปรดให้รวบรวมศิลปะลายโบราณ ให้ผู้ชำนาญการย้อมสีไปสอนชาวบ้านให้ย้อมสีติดทนนาน รวมทั้งทรงให้เสาะหาลายมัดหมี่แบบเก่าของพื้นบ้านเพื่อนำมาฟื้นฟูและจัดทำขึ้นใหม่ จนปัจจุบัน ผ้าไหมมัดหมี่เป็นสินค้าสำคัญที่เสริมรายได้และเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย.

ตอนที่ 55

เมื่อเดือนกันยายน พุทธศักราช 2517 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ทอดพระเนตรเห็นย่านลิเภามีอยู่เป็นจำนวนมากในป่าจังหวัดนราธิวาส ทรงทราบว่าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยมีการนำย่านลิเภามาจักสานเป็นเครื่องใช้กัน อย่างแพร่หลายและยังคงทนอยู่ได้จนปัจจุบัน แต่ศิลปะการจักสานย่านลิเภากำลัง จะสูญหายไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสนับสนุนหัตถกรรมจักสานย่านลิเภาในภาคใต้ จัดหาครูจากจังหวัดนครศรีธรรมราชมาสอน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประดิษฐ์เป็นเครื่องใช้หลายอย่าง เช่น กรอบรูป กระเป๋าถือ ซึ่งภายหลังได้พัฒนาให้มีความสวยงามมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ในภาคใต้ยังมีพืชพื้นเมือง คือกระจูด ซึ่งชาวไทยมุสลิมมีฝีมือในการสานกระจูดมาช้านาน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ส่งเสริมการสานกระจูดให้แพร่หลายและพัฒนาฝีมือในการสานให้ประณีตขึ้น เช่น สานเป็นกระเป๋า ตะกร้าใส่เสื้อผ้า พัด และกล่อง และทรงใช้ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวด้วยจึงทำให้เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง.

ตอนที่ 56

ในคราวน้ำท่วมใหญ่เขตจังหวัดอ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา เมื่อปลาย พุทธศักราช 2518 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปทรงเยี่ยมราษฎรที่ประสบอุทกภัยที่อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ทรงทราบว่าแหล่งดินเหนียวที่หาได้ง่าย อยู่ที่ตำบลบางเสด็จ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทรงระลึกถึง "ตุ๊กตาชาววัง ของเล่นเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ จึงมีพระราชดำริ ให้นำดินเหนียวมาปั้นตุ๊กตาชาววัง และทรงเริ่มโครงการตุ๊กตาชาววัง หรือตุ๊กตาไทยขึ้น โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ครูมาสอนชาวบ้านบางเสด็จปั้นตุ๊กตา ชาววัง ทำให้ตุ๊กตาชาววังซึ่งเป็นตุ๊กตาตัวเล็ก ๆ แต่งกายแบบไทยโบราณ และเกือบจะ สูญหายไปแล้วได้กลับมาเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวไทยและชาวต่างประเทศอีกครั้ง นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งกลุ่มทอผ้าฝ้าย ขึ้นใกล้ ๆ กับหมู่บ้านตุ๊กตาไทยด้วย ต่อมาหมู่บ้านใกล้เคียงในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ขอพระราชทาน ตั้งกลุ่มทอผ้าฝ้ายขึ้น จึงได้พระราชทานอุปกรณ์การทอผ้า และทรงจัดครูไปอบรม นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทำให้ราษฎรมีอาชีพเสริมที่มั่นคงตราบจนปัจจุบัน.

ตอนที่ 57

ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงเป็น คู่พระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงดำรงพระองค์ในการจรรโลงค่านิยม และคุณธรรมที่ดีงามของไทย ซึ่งปรากฏได้ชัดเจนทั้งจากพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ จากพระราชดำรัสในโอกาสต่าง ๆ และจากพระราชจริยวัตรอันงดงาม สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงเชื่อมั่นศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงเคารพในศาสนาอื่น มีพระเมตตาโอบอ้อมอารีช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ทุกข์ยากเดือดร้อน ทรงอดทนอดกลั้น ต่อความลำบากทั้งปวง ทรงเป็นแบบอย่างของกุลสตรีไทยที่น่าภาคภูมิใจ ตลอดจน ทรงอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าต่อวิถีชีวิตไทย จนเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไปว่าสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงดำรงพระองค์เหมาะสมตามแบบอย่าง วัฒนธรรมไทยที่ดีงามทุกประการ และด้วยค่านิยมและคุณธรรมที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงจรรโลงรวมทั้งด้วยพระราชจริยวัตรและพระราชกรณียกิจดังกล่าว จึงสมควรที่คนไทยทุกคนควรดำเนินชีวิตในครรลองของวัฒนธรรมไทยตามรอย- พระยุคลบาทตลอดไป

ตอนที่ 58

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชหฤทัยเปี่ยมไปด้วยพระเมตตากรุณาต่อปวงอาณาประชาราษฎร์ในทุก ๆ ด้าน เมื่อได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปทรงเยี่ยมราษฎรทั่วทุกภูมิภาค ทรงประจักษ์ว่า ปัจจุบันทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ลดลงไปอย่างมาก ป่าไม้บริเวณต้นน้ำลำธารถูกทำลายลงอย่างรวดเร็วจนขาดความสมดุลที่ธรรมชาติจะสร้างขึ้นทดแทนได้ ที่สำคัญคือ เป็นสาเหตุของความแห้งแล้ง ประกอบอาชีพเกษตรกรรมไม่ได้ผล เกิดมลพิษขึ้นโดยทั่วไป และเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้จึงมีพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะทรงแก้ไขปัญหาเหล่านั้นให้หมดสิ้นไป ดังพระราชดำรัสที่ว่า "…ข้าพเจ้ามีความภูมิใจในทรัพยากร ธรรมชาติ ป่าไม้ และสัตว์ป่าของไทยมาก ข้าพเจ้าเห็นว่าเราควรใช้ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้อย่างระมัดระวัง และทะนุบำรุงให้คงอยู่ตลอดไป มิใช่ให้ประวัติศาสตร์จารึกได้ว่า ทรัพยากรเหล่านี้ถูกทำลายหมดสิ้นไปในระยะเวลาอันสั้นแค่อายุของเรา ทรัพยากร ธรรมชาตินับเป็นสมบัติล้ำค่าของชาติ และเป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ สมควรที่เรา ทั้งหลายจะช่วยกันรักษาไว้ให้คงเป็นประโยชน์สืบไปชั่วลูกหลาน…"

ตอนที่ 59

งานสร้างป่าคืนให้แผ่นดิน เริ่มขึ้น ณ ผืนดินส่วนพระองค์ของสมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สวนหาดทรายใหญ่ บ้านเขาเต่า อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวนกว่า 78 ไร่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแส รับสั่งว่า "ตรงนี้แห้งแล้งที่สุดในประเทศไทยภาคกลาง ด้วยพระราชประสงค์ที่จะให้พื้นที่ของพระองค์เป็นพื้นที่ตัวอย่างในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทั้งป่าไม้ แหล่งน้ำ ดิน และสัตว์ป่า เพื่อให้ประชาชนเห็นว่าการฟื้นฟูแผ่นดินที่แห้งแล้งที่สุดให้เป็นแผ่นดินแห่งความร่มเย็นนั้นทำได้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงสำรวจพื้นที่ดังกล่าวด้วยพระองค์เอง กว่า 8 ปี ภายใต้การทรงงานอย่างจริงจัง ทรงพระราชอุตสาหะที่จะสร้างผืนป่า พลิกฟื้นให้มีต้นไม้บนภูเขา และให้สัตว์ป่ากลับคืนสู่ถิ่นพำนักเหมือนที่เคยเป็นในครั้งหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว ดังนั้น สวนหาดทรายใหญ่ จึงเป็นเสมือนเส้นทางตัวอย่างแห่งการเริ่มต้นที่จะช่วยพลิกฟื้นให้ธรรมชาติสามารถกลับคืนสู่ระบบความสมบูรณ์ได้ด้วยพระบารมีแห่งน้ำพระราชหฤทัยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

ตอนที่ 60

จากการโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปในท้องถิ่นชนบททั่วแผ่นดินไทย ทำให้ได้ทอดพระเนตรความเสื่อมโทรมของป่าไม้ที่นำไปสู่ความแห้งแล้งของแผ่นดิน และได้ทรงเห็นถึงความเหนื่อยยากของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงอุทิศพระองค์ในการจัดหาแหล่งน้ำให้กับราษฎรโดยเฉพาะผู้มีอาชีพทางด้านการเกษตรที่อยู่ห่างไกลและทุรกันดาร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถจึงทรงห่วงใยต่อการสูญเสียต้นไม้มีค่า และมีพระราชดำริที่จะหาทางรักษาป่าและสร้างป่าทดแทนให้จงได้ จนเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไปว่า ทั้งสองพระองค์ทรงห่วงใยในเรื่อง "ป่า และ "น้ำ เป็นที่สุด ด้วยทรงตระหนักว่าผู้คนในประเทศไทยมีอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งต้องอาศัยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรน้ำ และเพื่อให้มีน้ำที่สมบูรณ์ก็ต้องมีป่าที่สมบูรณ์ด้วย พระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถที่ว่า "พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ…พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า เป็นประดุจสิ่งยืนยันในพระราชปณิธานที่จะอนุรักษ์ป่าและน้ำไม่ให้สูญสิ้นไปจากผืนแผ่นดินไทย

ตอนที่ 61

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงตระหนักว่าในการที่จะรักษาป่าไม้ ให้คงอยู่นั้น จำเป็นต้องสร้างความรัก ความหวงแหนในต้นไม้ทุกต้นให้เกิดขึ้นในหัวใจของประชาชนให้ได้เสียก่อน การรักษาป่าจึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ ด้วยพระวิริยะอุตสาหะที่จะช่วยเหลือราษฎรโดยเฉพาะในภาคอีสานให้มีป่าเหลือไว้บนผืนแผ่นดิน ให้มากที่สุด ทรงค้นคว้าจากหนังสือต่าง ๆ เพื่อที่จะทรงแก้ไขปัญหาความแห้งแล้ง และมีพระราชดำริที่จะฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ด้วยการปลูกป่าและรักษาป่า โครงการป่ารักน้ำ จึงกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในภาคอีสาน และเพื่อที่จะสร้างศูนย์รวมความศรัทธาในการรักษาป่าร่วมกันของประชาชน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ จัดพิธีบวงสรวงเทพยดาอารักษ์ขึ้นในพิธีเริ่มต้นโครงการ ป่ารักน้ำที่บริเวณเชิงเขาภูผาเล็ก อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร ในวันที่ 20 ธันวาคม พุทธศักราช 2525 ณ ที่แห่งนี้ จึงได้ก่อกำเนิดผืนป่าเล็ก ๆ ที่เป็นจุดเริ่มต้นโครงการ ป่ารักน้ำ ซึ่งยังประโยชน์มหาศาลแก่พสกนิกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ตอนที่ 62

โครงการป่ารักน้ำ เป็นโครงการที่เกิดจากสายพระเนตรที่ยาวไกลของสมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ด้วยต้องพระราชประสงค์ให้ทรัพยากรธรรมชาติและ ป่าไม้ของประเทศคงอยู่บนผืนแผ่นดินไทยและยังประโยชน์สืบไปเพื่อเป็นมรดกแก่ ลูกหลานไทยชั่วกาลนาน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำเนินการใน 3 ลักษณะคือ จัดหมู่บ้านขึ้นในป่าที่มีการตัดไม้รวมทั้งพระราชทานสิ่งจำเป็นในการดำรงชีพให้ จัดให้ราษฎรที่ยากจนไม่มีอาชีพที่แน่นอนเป็นผู้ดูแลรักษาต้นไม้ในพื้นที่โครงการ ราษฎรในท้องถิ่นที่ตระหนักในน้ำพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะทรงอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าเกิดจิตสำนึกที่จะให้ความร่วมมือและปลูกป่าถวาย ด้วยเดชะพระบารมีโครงการป่ารักน้ำซึ่งก่อกำเนิดขึ้นที่จังหวัดสกลนคร จึงได้ขยายไปยังจังหวัดใกล้เคียง ทำให้ราษฎรร่วมมือร่วมใจกันปลูกป่า รักษาและฟื้นฟูสภาพป่าเพิ่มมากขึ้น จนสามารถยับยั้งการทำลายป่าได้ส่วนหนึ่ง แม้การอนุรักษ์และฟื้นฟูจะยังไม่ทันกับการทำลายแต่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถก็ทรงมุ่งมั่นที่จะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อขจัดปัญหาการขาดแคลน น้ำดื่มน้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก และการหยุดยั้งทำลายป่า ซึ่งนับเป็นปัญหาใหญ่หลวงของชาติที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันหามาตรการป้องกันและแก้ไขให้จงได้

ตอนที่ 63

โครงการป่ารักน้ำมีวัตถุประสงค์หลักคือ ฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมบริเวณต้นน้ำ ลำธารให้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำของราษฎรในท้องถิ่น โดยให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการปลูกต้นไม้โตเร็วชนิดต่าง ๆ ช่วยกันอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้เดิมไว้ และปลูกเสริมในพื้นที่ธรรมชาติเพื่อช่วยควบคุมความผันแปรของอากาศ เป็นการเสริมสร้างและปลูกฝังให้ราษฎรรักและหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ให้คนในท้องถิ่นมีไม้ใช้สอย ตลอดจนช่วยเหลือให้มีที่อยู่เป็น หลักแหล่ง มีอาชีพแน่นอน มีรายได้และความเป็นอยู่ดีขึ้น จากโครงการป่ารักน้ำ สมเด็จ-พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ยังได้พระราชทานพระราโชบายให้จัดตั้งหมู่บ้านป่า รักน้ำ ขึ้น ให้มีสถานะเป็น บ้านเล็กในป่าใหญ่ เพื่อช่วยเหลือราษฎรยากจนไม่มีที่ดิน ทำกิน มีลูกหลายคน มีความขยันขันแข็ง มีความประพฤติดี โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างบ้านให้อยู่อาศัย มีหน้าที่ดูแลรักษาต้นไม้และพระราชทาน เงินเดือนให้ ที่สำคัญคือ ทรงเน้นให้คนกับป่าอยู่ด้วยกันได้ ให้มีความรู้สึกว่าทั้งเขตบ้านและเขตป่าเป็นผืนแผ่นดินเดียวกัน และให้รักป่าเหมือนเป็นสมบัติของตนเอง

ตอนที่ 64

ให้ป่าอยู่กับคนได้ คนอยู่กับป่าได้ โดยไม่มีการทำลาย พระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถนี้ คือที่มาของโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ที่ทรง ริเริ่มตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พุทธศักราช 2534 เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร ณ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ได้ทอดพระเนตรเห็นความหนาแน่นของ ไม้ใหญ่ทุกต้นแห่งผืนป่าอันกว้างใหญ่ จึงทรงห่วงใยในความอุดมสมบูรณ์ของป่าที่อมก๋อย ได้พระราชทานแนวทางการอนุรักษ์สภาพป่าและชีวิตสัตว์ป่าให้รอดพ้นจากการถูกทำลาย โดยไม่ทำความเดือดร้อนแก่ราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ทั้งนี้ต้องรีบดำเนินการอย่างเร่งด่วน นอกจากนั้นยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งครอบครัวที่อาศัยอยู่ในป่าในรูปบ้านเล็กในป่าใหญ่ โดยมีบ้านห้วยไม้หก อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านแรก เพื่อยับยั้งไม่ให้ราษฎรเผาป่า ทำไร่เลื่อนลอย ไม่ให้ล่าสัตว์เป็นอาหารและส่งขายแก่บุคคลภายนอก รวมทั้งนำระบบอาชีพใหม่ไปสู่หมู่บ้าน ทั้งนี้ด้วยพระเมตตาธิคุณบารมีของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และด้วยพระราชปณิธาน ที่จะทรงอนุรักษ์ผืนป่าและชีวิตสัตว์ป่าให้คงอยู่ได้ตลอดไป

ตอนที่ 65

ตลอดเวลาที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นห่างไกลทุรกันดาร โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่ภาคใต้ ของประเทศไทย สิ่งหนึ่งที่ราษฎรมักจะนำมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายก็คือ สัตว์ป่า และ สัตว์ป่าหายาก เช่น นกแว่น นกหว้า ที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในป่าลึก ซึ่งรู้จักกันในนามว่า ป่าเขาสำนัก

ป่าเขาสำนักเป็นป่าดิบชื้นผืนเล็ก ๆ ที่มีเนื้อที่เพียง 1,250 ไร่ ตั้งอยู่ในเขต ตำบลกะลุวอ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส แต่ทุกตารางนิ้วของป่าดิบแห่งนี้ก็คือความชุ่มชื้น ที่เกิดจากไม้ทุกต้นช่วยกันสร้างขึ้นตั้งแต่ไม้เล็กผิวหน้าดินไปจนถึงไม้ใหญ่ของป่าที่มีขนาด ลำต้นสูงใหญ่ รกครึ้มและสูงตระหง่าน และด้วยความชุ่มชื้นที่เกิดจากความอุดมสมบูรณ์ ของป่าไม้ที่สร้างสมตัวเองมาเป็นเวลานานทำให้ป่าแห่งนี้เป็นป่าที่ให้กำเนิดต้นน้ำให้อ่างเก็บน้ำบ้านเขาสำนักได้มีน้ำใช้ในหมู่บ้านตลอดปี

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพิจารณาเห็นว่า "ป่าเขาสำนัก" แม้จะเป็นป่าผืนเล็ก ๆ แต่เมื่อเป็นป่าที่ยังอุดมสมบูรณ์ก็เป็นที่เกิดของแหล่งต้นน้ำลำธาร และเป็นที่อยู่อาศัยอันผาสุกของสัตว์ป่าได้ จึงมีพระราชดำริที่จะสร้างกลุ่มราษฎรในท้องถิ่น ให้ดูแลรักษาป่าแห่งนี้ไว้ด้วยตัวเขาเอง ด้วยพระราชประสงค์ที่จะปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่าให้เกิดกับพสกนิกรในท้องถิ่นนั่นเอง

ตอนที่ 66

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชดำริให้อนุรักษ์ ป่าเขาสำนักไว้ ภายใต้การดูแลรักษาของราษฎรในพื้นที่ตำบลกะลุวอ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ได้ทรงคัดเลือกราษฎรจากหมู่บ้านที่ตั้งอยู่รอบ ๆ เขาสำนักซึ่งเป็นราษฎรที่ยากจน จำนวน 6 ครอบครัวให้ทำหน้าที่พิทักษ์ป่าเขาสำนัก โดยพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ สร้างบ้านพระราชทานแก่ราษฎร 6 ครอบครัวบริเวณรอบเขาสำนัก และมีพระราชเสาวนีย์ให้ราษฎรทั้ง 6 ครอบครัว ทำหน้าที่ดูแลรักษาป่าไม่ให้ใครขึ้นไปล่าสัตว์ตัดไม้ในป่า

วันที่ 29 กันยายน พุทธศักราช 2526 เป็นวันเริ่มต้นโครงการสวนป่าและอนุรักษ์สัตว์ป่าเขาสำนัก ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงสาธิตการปลูกสวนป่า ณ บ้านรอบเขาสำนัก และมีพระราชกระแสรับสั่งให้ราษฎร ช่วยกันพัฒนา หมู่บ้าน และรักษาป่าไม้ธรรมชาติและสัตว์ป่าให้คงสภาพไว้

โครงการสวนป่าและอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าเขาสำนัก จึงเป็นงานบนเส้นทางอนุรักษ์ ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงปลูกสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนในท้องถิ่นชนบทของประเทศได้รู้จักคุณค่าของป่าไม้และสัตว์ป่าด้วยพระองค์เอง ราษฎรที่อาศัยอยู่เชิงเขาสำนักต่างก็มีความรักและผูกพันกับป่าแห่งนี้ ด้วยความรู้สึกเคารพและเทิดทูนสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเป็นล้นพ้น อันเป็นหนทางที่นำไปสู่การพิทักษ์รักษาป่าไม้และชีวิตสัตว์ป่าไว้ให้คงอยู่ในสภาพเดิมตลอดไป.

ตอนที่ 67

ในอดีตแผ่นดินขวานทองของไทยได้ชื่อว่าเป็นแหล่งที่มีสัตว์ป่าชุกชุมมากที่สุดแห่งหนึ่ง แต่เมื่อความเจริญของบ้านเมืองมีมากขึ้น ป่าไม้ก็ถูกทำลายมากขึ้น เป็นผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า อีกทั้งสัตว์ปีกหลายชนิดก็ถูกมนุษย์ล่าทำลายจนเหลือเพียงเล็กน้อยแต่ด้วยพระบารมีของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่มีพระราชดำริจะอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า และมีพระราชประสงค์ที่จะปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่าให้เกิดกับพสกนิกรในท้องถิ่น โดยเฉพาะที่ป่าสงวนบ้านโคกไม้เรือเพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้นจึงยังคงอยู่กับผืนแผ่นดินไทยต่อไป สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในท้องที่อำเภอตากใบ เมื่อพุทธศักราช 2524 ได้ทอดพระเนตรพื้นที่ป่าสงวนบ้านโคกไม้เรือ ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านคลองน้ำไหล ตำบลไพรวัน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ทรงพิจารณาเห็นความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ จึงมีพระราชดำริให้จัดพื้นที่บริเวณป่าสงวนบ้านโคกไม้เรือเป็นสวนป่าสำหรับเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพื้นเมืองที่หายากและกำลังจะสูญพันธุ์หรือมีน้อย โดยให้มี นักวิชาการมาช่วยเหลือและทำการศึกษาเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องสำหรับนำมาใช้ในการเพาะเลี้ยง และเผยแพร่ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าแก่ประชาชนที่สนใจจะยึดถือเป็นอาชีพแทนการไปล่าจากป่าธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นการช่วยยกระดับอาชีพ และรายได้แก่ประชาชนในท้องถิ่น เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

ตอนที่ 68

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชดำริให้จัดสร้างบริเวณ ป่าสงวนบ้านโคกไม้เรือ เป็นสวนป่าสำหรับเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพื้นเมืองที่หายาก กรมป่าไม้จึงได้เริ่มดำเนินการสำรวจและจัดตั้งศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าโคกไม้เรือขึ้นในพุทธศักราช 2526 สัตว์ป่ารุ่นแรกที่นำมาเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ในพื้นที่ศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ สัตว์ป่าโคกไม้เรือ ได้แก่ กระจง ไก่ฟ้าหน้าเขียว ไก่จุก ไก่ป่า นกหว้า นกชาปีไหน และนกยูง ในระยะแรกได้มีการขยายพันธุ์กระจง นอกจากนี้ยังสามารถเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ ที่หายากอื่น ๆ อีก เช่น เก้ง รวมถึงละมั่งซึ่งไม่ใช่สัตว์ในท้องถิ่น ส่วนสัตว์ปีกที่ขยายพันธุ์ได้มี ไก่ฟ้า ไก่ป่า โดยเฉพาะสัตว์ป่าจำพวกสัตว์ปีกที่สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้เป็นผลสำเร็จเป็นศูนย์แรก คือ นกชาปีไหน ซึ่งจัดเป็นนกที่หายากมีถิ่นกำเนิดเฉพาะทางภาคใต้ จึงได้นำมาเพาะ ขยายพันธุ์ และติดตามพฤติกรรมอย่างใกล้ชิด ดังนั้นบริเวณพื้นที่ 300 ไร่ ของสวนป่าโคกไม้เรือ จึงเป็นถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่านานาชนิด ด้วยพระบารมีของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

ตอนที่ 69

นอกจากจะทรงเป็นคู่พระทัยที่สนับสนุนพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาโดยตลอดแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชประสงค์ที่จะทรงสร้างป่าให้สัตว์ป่าได้มีถิ่นที่อยู่อันร่มเย็นผาสุกด้วยพระองค์เอง จึงได้เสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรม ณ ที่ประทับแรมบริเวณทุ่งกะมัง ทุ่งหญ้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของป่าภูเขียว เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พุทธศักราช 2526 ในครั้งนั้นได้ทรงพระดำเนินสำรวจสภาพพื้นที่โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าตามเสด็จด้วย โดยเสด็จเข้าไปในป่าดงดิบเพื่อทอดพระเนตรแหล่งอาหาร แหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งหลบภัย ตลอดจนเส้นทางเดินของสัตว์ป่า จากป่าดงดิบ พระองค์ได้เสด็จบุกฝ่าพงหญ้าที่ยอดหญ้าทุกต้นมีใบเรียวคมสบัดพริ้วสูงท่วมพระวรกายในขณะที่พื้นล่างก็ชื้นแฉะไปด้วยน้ำขังก็เพื่อทอดพระเนตรทุ่งหญ้าที่เป็นเสมือนหัวใจของป่าภูเขียว และ พระราชทานพระราชวโรกาสให้อดีตพรานนักล่าเข้าเฝ้า ทรงซักถามถึงวิธีการล่า เส้นทางขึ้นป่า แหล่งที่ล่าและถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่า เพื่อที่จะทรงนำมาเป็นข้อมูลดำเนินการในการอนุรักษ์สัตว์ป่า ณ ป่าภูเขียวต่อไป

ตอนที่ 70

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พุทธศักราช 2546 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรม ณ ที่ประทับแรมบริเวณทุ่งกะมัง ทุ่งหญ้าที่มีขนาดใหญ่ ที่สุดของป่าภูเขียว เพื่อสำรวจสภาพพื้นที่เพื่อที่จะนำมาเป็นข้อมูลในการอนุรักษ์สัตว์ป่า ให้ สัตว์ป่าอยู่ได้อย่างมีความสุข ดังพระราชเสาวนีย์ว่า "อะไรที่จะทำให้สัตว์ป่าอยู่ได้อย่างมีความสุข ต้องจัดขึ้นให้เป็นไปตามระบบนิเวศน์ของป่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า- โปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้ชื่อโครงการนี้ว่า "โครงการสวนสัตว์ ธรรมชาติภูเขียวอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมทั้งพระราชทานพระราชดำริให้กองทัพภาคที่ 2 ดำเนินการพัฒนาป่าภูเขียวในเรื่องการปลูกและบำรุงพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อเป็นการดึงดูดสัตว์ป่าให้เข้ามาอยู่อาศัย ให้จัดสถานที่เลี้ยงสัตว์ป่าชั่วคราวแล้วปล่อยเข้าป่า รวมทั้งการ ให้อาหารสัตว์ป่าตามความจำเป็น ตลอดจนให้ดำเนินการในเรื่องการวิจัยสัตว์ป่า และให้ การศึกษาอบรมแก่เยาวชน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไปให้เกิดความรักและอนุรักษ์ สัตว์ป่า ต่อมาเมื่อพุทธศักราช 2527 มีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวขึ้น ทำหน้าที่เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าหายากที่เคยมีในป่าภูเขียว เพื่อปล่อย สัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติต่อไป

ตอนที่ 71

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้ง ศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2527 ทำหน้าที่เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าหายากที่เคยมี เพื่อปล่อยคืนสู่ป่าภูเขียว เช่น เนื้อทราย ไก่ฟ้า เก้ง กวาง ฯลฯ และนับจากนั้นเป็นต้นมาศูนย์เพาะเลี้ยงพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้ก็สามารถขยายพันธุ์สัตว์ป่า ประเภทเก้ง กวาง และเนื้อทรายที่ออกลูกเป็นประจำทุกปี รวมทั้งการขยายพันธุ์ไก่ฟ้าหลังขาว และไก่ฟ้าพญาลอก็สามารถเพิ่มจำนวนได้เป็นปริมาณมากเช่นกัน ศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่า ภูเขียวจึงเป็นศูนย์กลางในการส่งพันธุ์ไก่ฟ้าหลังขาวและไก่ฟ้าพญาลอไปขยายพันธุ์ และปล่อยคืนสู่ธรรมชาติเป็นประจำทุกปี ต่อมาในพุทธศักราช 2529-2530 กองศิลปาชีพในพระองค์ฯ ร่วมกับกองทัพภาคที่ 2 กรมป่าไม้ จังหวัดชัยภูมิ และสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ ดำเนินการจัดอบรมประชาชนในพื้นที่รอบป่าภูเขียวขึ้น 2 รูปแบบ คือ ดำเนินการฝึกอบรม นักล่าสัตว์ ในพื้นที่ 42 หมู่บ้าน และฝึกอบรม โครงการหมู่บ้านรักษ์ป่า-ประชารักสัตว์ ในพื้นที่ 60 หมู่บ้าน ซึ่งการอบรมดังกล่าวได้มุ่งเน้นถึงการอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่า รวมทั้งการสร้างอาชีพใหม่ให้ราษฎรแทนการล่าสัตว์อีกด้วย

ตอนที่ 72

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชดำริว่า "เมื่อสัตว์ป่าแต่ละชนิดขยายพันธุ์ได้มีปริมาณมากขึ้นแล้ว ก็ให้ดำเนินการปล่อยคืนสู่ป่าธรรมชาติที่เป็นถิ่นที่อาศัย ของสัตว์ป่าชนิดนั้น ๆ เพื่อเป็นการเพิ่มจำนวนประชากรสัตว์ป่าในธรรมชาติไม่ให้สูญพันธุ์ได้ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส เพื่อทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกรในจังหวัดนราธิวาสและจังหวัดใกล้เคียง ได้มีราษฎรนำสัตว์ป่ามาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย แต่จากการที่ได้ทอดพระเนตรชีวิตแต่ละชีวิตของสัตว์ป่าอยู่ตลอดมานั้น ทำให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงเกิดความห่วงใยต่อชีวิตที่ถูกล่าออกจากป่าอยู่เสมอ ๆ จึงมีพระราชดำริที่จะหาทางหยุดยั้งการล่าสัตว์ด้วย แนวทางที่จะทำให้ประชาชนไม่เดือดร้อน ด้วยการหาอาชีพเสริมให้ นั่นคือการส่งเสริมให้ ประชาชนที่เคยล่าสัตว์รู้จักการเลี้ยงสัตว์ป่าที่เขาเคยล่าเพื่อเป็นแนวทางนำไปสู่การป้องกันไม่ให้พรานขึ้นไปล่าสัตว์ป่าในธรรมชาติได้ทางหนึ่ง และแนวพระราชดำรินี้เป็นที่มาของการจัดตั้ง ศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าขึ้นในท้องถิ่นทุกภาคของประเทศ

ตอนที่ 73

ศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าในท้องถิ่นต่าง ๆ ทุกภาคของประเทศ เกิดขึ้นตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ศูนย์เพาะเลี้ยง และขยายพันธุ์สัตว์ป่าปางตอง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่นำสัตว์ป่า มาเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ ซึ่งประกอบด้วยการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์กีบ ได้แก่ ละอง ละมั่ง เนื้อทราย เก้ง กวางป่า และการขยายพันธุ์สัตว์ป่าประเภทสัตว์ปีก ได้แก่ ไก่ฟ้า ปรากฏว่าสัตว์ที่เด่นที่สุดและเพาะเลี้ยงได้มากที่สุดของศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าปางตองก็คือ ละอง ละมั่ง และไก่ฟ้าหลังขาว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรงานการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่า เมื่อเดือนมีนาคม พุทธศักราช 2534 ทรงพอพระราชหฤทัยและพระราชทานพระราชดำริให้ หาทางเผยแพร่การเพาะเลี้ยงสู่ประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบป่า ซึ่งศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าปางตองได้สนองพระราชดำริ โดยการแจกไก่ฟ้าที่เพาะเลี้ยงให้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่รอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ลุ่มน้ำปาย ภายใต้การดูแลและแนะนำการเลี้ยงที่ถูกวิธี เพื่อเป็นการ เริ่มต้นให้ประชาชนสามารถเพิ่มรายได้จากการเลี้ยงสัตว์แทนการขึ้นไปล่าจากป่า เพื่อชีวิตที่อยู่ในป่าจะสามารถอยู่ได้อย่างสงบสุข.

ตอนที่ 74

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พุทธศักราช 2525 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการพัฒนาเขาหินซ้อน จังหวัดปราจีนบุรี ได้ทอด- พระเนตรเห็นสภาพป่าซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร เหมาะแก่การที่จะสงวนให้เป็น พื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่าในพื้นที่ป่าภาคตะวันออกได้แห่งหนึ่ง จึงพระราชทานพระราชดำริให้จัดทำโครงการอนุรักษ์สัตว์ป่าบริเวณพื้นที่เส้นทางที่จะขึ้นไปยังอ่างเก็บน้ำช่องกล่ำบน ในลักษณะของศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่า ต่อมาเมื่อพุทธศักราช 2526 ศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ สัตว์ป่าช่องกล่ำบน จึงได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริ ครอบคลุมพื้นที่ป่าของหมู่บ้าน ท่ากระบาก หมู่บ้านคลองคันโท และหมู่บ้านคลองทราย ในเขตอำเภอสระแก้ว และอำเภอวัฒนานคร ในพื้นที่ 800 ไร่ ศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าช่องกล่ำบนนี้สามารถทำการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าต่าง ๆ ทั้งประเภทสัตว์กีบและสัตว์ปีก สัตว์ปีกที่เด่นที่สุดก็คือ นกแว่นเหนือ นอกจากนี้ยังมีไก่ฟ้าหลังเทาและไก่ฟ้าหลังขาว ส่วนสัตว์ป่าประเภทสัตว์กีบมี เนื้อทราย กวางป่า ละมั่ง ฯลฯ ซึ่งได้รับการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์เพื่อปล่อยกลับคืนสู่ป่าธรรมชาติ ตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ.

ตอนที่ 75

สวนสัตว์ตามโครงการพระราชดำริแห่งบ้านกะลุบี ตำบลมาโมง กิ่งอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส คือแหล่งอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าตามพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรม-ราชินีนาถอีกแห่งหนึ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ราษฎรช่วยกันอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าที่หายาก และรับสมาชิกให้ช่วยกันเลี้ยงดูสัตว์ป่าแห่งสวนสัตว์ตามโครงการพระราชดำริ จึงนับเป็นเวลาอันยาวนานมาแล้วที่ทรงมีความอุตสาหะพยายามที่จะปลูกฝังให้ราษฎรรักและ รู้ในคุณค่าของการพิทักษ์รักษาป่าไม้และสัตว์ป่าของประเทศโดยมิเคยทรงย่อท้อ และ ตลอดเวลาที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศ โดยเฉพาะราษฎรในท้องถิ่นที่แสนไกลเช่นหมู่บ้านต่าง ๆ ในจังหวัดนราธิวาส สิ่งหนึ่งที่ราษฎรมักจะนำมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย คือ สัตว์ป่า โดยเฉพาะ นกพันธุ์ที่หายากของทางภาคใต้ เช่น นกแว่น นกหว้า ซึ่งมีถิ่นอาศัยอยู่ในป่าลึก ด้วยเหตุผล ดังกล่าวนี้เองจึงมีพระราชดำริที่จะปลูกฝังให้ราษฎรรักและรู้คุณค่าของสัตว์ป่า อันจะนำไปสู่ การยุติการล่าสัตว์ป่าเป็นอาหาร.

ตอนที่ 76

เราต้องเข้าใจให้ลึกซึ้งว่าทรัพยากรป่าไม้นั้นสำคัญต่อพวกเรามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้เป็นต้นน้ำลำธารที่ให้ความชุ่มฉ่ำต่อแผ่นดิน และป่าไม้ต้องมีสัตว์เพื่อช่วยในการขยายพันธุ์ และสร้างความสมดุลของธรรมชาติ ส่วนสัตว์ป่านั้นก็ต้องมีแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัย จึงกล่าวได้ว่า มนุษย์ ป่าไม้ และสัตว์ป่า มีความสัมพันธ์กันอย่างละเอียด ลึกซึ้ง จนไม่สามารถจะขาดส่วนหนึ่งส่วนใดไปได้ นี่คือพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ด้วยพระราชประสงค์ที่จะให้ราษฎรช่วยกันอนุรักษ์สัตว์ ศูนย์เพาะเลี้ยง และขยายพันธุ์สัตว์ป่าหลายแห่งจึงเกิดขึ้นตามพระราชดำริ อาทิ ศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ห้วยทราย ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2527 ในเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ โดยมีเป้าหมายในการดำเนินการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าที่เคยชุกชุมในป่าแถบนี้มาก่อน ได้แก่ เนื้อทราย เก้ง และหมูป่า และโดยพระราชดำริที่จะฟื้นฟูเขาเสวยกะปิ ให้กลับคืนเป็นพื้นที่ป่า ธรรมชาติ เพื่อจะทำเป็นสวนสัตว์เปิด ศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทรายจึงเตรียมการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าเพื่อปล่อยคืนสู่ป่าธรรมชาติสนองพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ.

ตอนที่ 77

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชประสงค์ที่จะให้ศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่า เป็นศูนย์กลางการศึกษา ค้นคว้า วิจัย เกี่ยวกับสัตว์ป่า การปลูกพืช อาหารสัตว์ เพื่อปลูกเสริมในพื้นที่ธรรมชาติ และเผยแพร่งานการวิจัยนั้นแก่ประชาชนในท้องถิ่น ตลอดจนเพื่อให้เป็นแหล่งสำหรับเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ ที่หายากใกล้จะสูญพันธุ์และมีค่าทางเศรษฐกิจ จึงมีพระราชดำริเพิ่มเติมว่า "เมื่อสัตว์ป่าแต่ละชนิดขยายพันธุ์ได้มีปริมาณมากขึ้นแล้ว ก็ให้ดำเนินการปล่อยสู่ป่าธรรมชาติที่เป็นถิ่นที่อาศัย ของสัตว์ป่าชนิดนั้น ๆ เพื่อเป็นการเพิ่มจำนวนประชากรสัตว์ป่าในธรรมชาติไม่ให้สูญพันธุ์ได้ และพระราชดำริดังกล่าวนี้ เป็นที่มาของการจัดตั้งศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าขึ้น ในท้องถิ่นทุกภาคของประเทศ

ตอนที่ 78

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงอุทิศพระองค์ ทรงสละเวลาและพระราชทรัพย์เพื่อบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ที่เกิดประโยชน์ครอบคลุมทั้งคน สัตว์ พืช ป่าไม้ และสิ่งแวดล้อมนานาประการ ทรงมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันในการดำรงชีวิตระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ อย่างยากที่จะหาผู้ใดเทียบได้ พระราชกรณียกิจ ต่าง ๆ ล้วนเป็นแบบอย่างที่ดียิ่งในการช่วยพลิกฟื้นความอุดมสมบูรณ์และสร้างระบบความ สมดุลแห่งธรรมชาติให้คืนสู่แผ่นดิน จากพื้นที่ที่เคยร้อนระอุแห้งแล้งกลับกลายเป็นผืนแผ่นดินเขียวชอุ่ม สดใสด้วยพฤกษานานาพันธุ์ และสีสันของเหล่าสัตว์ป่านานาชนิด ที่สำคัญคือ ทรงพยายามปลูกจิตสำนึกในใจคนให้รัก หวงแหน และผูกพันในทรัพยากรธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อมไว้ให้คงอยู่บนผืนแผ่นดินให้มากที่สุด และนานที่สุดเพื่อเป็นการตอบแทนคุณ ของแผ่นดิน ด้วยทรงตระหนักว่าน้ำและทรัพยากรธรรมชาติหลากหลาย เป็นประดุจขุมทรัพย์ อันล้ำค่ายิ่งของประเทศไทยและผืนแผ่นดินไทย ที่สมควรจะอนุรักษ์ไว้ให้เป็นสมบัติของลูกหลานไทยตลอดไป.

ตอนที่ 79

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใยในชีวิตความเป็นอยู่ ของราษฎรทุกเรื่อง มีพระราชประสงค์ที่จะทรงยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาต่าง ๆ ในการดำรงชีวิตที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะในถิ่นทุรกันดาร ด้วยเหตุนี้ จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินโครงการฟาร์มตัวอย่างขึ้นในหลายพื้นที่ ดังที่กรมประชาสัมพันธ์ในนามคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ การจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิม- พระชนมพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม 2547 ได้นำสื่อมวลชนไปเยี่ยมชมโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราช-ดำริ บ้านขุนแตะ ตำบลดอยแก้ว อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2547 โครงการฟาร์มตัวอย่างดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรและนักเรียน โรงเรียนบ้านขุนแปะ ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อพุทธศักราช 2540 ทรงรับทราบข้อมูลเรื่องความยากลำบากในการประกอบอาชีพที่บ้านขุนแตะจากราษฎร ที่เข้าเฝ้า ฯ จึงมีพระราชดำริให้ดำเนินการจัดตั้งฟาร์มตัวอย่างขึ้นที่บ้านขุนแตะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ในลักษณะเป็นศูนย์สาธิตและส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ

ตอนที่ 80

ด้วยพระราชหฤทัยห่วงใยให้ราษฎรมีอาชีพที่มั่นคง มีแหล่งรองรับงานทำ ในท้องถิ่น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการ จัดตั้งฟาร์มตัวอย่างขึ้นที่บ้านขุนแตะ หมู่ที่ 5 ตำบลดอยแก้ว อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นศูนย์สาธิตและส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ อาทิ ไก่ เป็ด นกกระทา ปลา กบ แกะ ตลอดจนให้มีการเพาะเห็ด และปลูกไม้ใช้สอย เช่น ไม้สะเดา ไม้ยูคาลิปตัส โดยจ้างแรงงานราษฎรที่มีฐานะยากจนภายในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียง สร้างธนาคารข้าวพระราชทาน สร้างฝายทดน้ำ และสระเก็บน้ำ ทั้งนี้ทรงมอบหมายให้กองทัพบก โดยกองทัพภาคที่ 3 จัดตั้งและควบคุมดูแลฟาร์มตัวอย่างดังกล่าว ซึ่งมีการดำเนินการหลายประการ อาทิ งานส่งเสริมด้านการประมง งานส่งเสริมด้านการเกษตร งานส่งเสริมด้านปศุสัตว์ งานอนุรักษ์ป่าไม้ งานทดสอบและพัฒนาระบบปลูกพืชเศรษฐกิจแบบยั่งยืน นอกจากนั้นยังดำเนินการจัดหาน้ำมาสนับสนุนโครงการโดยก่อสร้างฝายทดน้ำบริเวณห้วยขุนแตะพร้อมระบบส่งน้ำไปยังหมู่บ้าน และฟาร์มตัวอย่าง เพื่อใช้อุปโภคบริโภคและใช้ในกิจกรรมของฟาร์มด้วย.

ตอนที่ 81

โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่บ้านขุนแตะ ตำบลดอยแก้ว อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ นับเป็นการสร้างงาน ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น โดยมุ่งหวังให้ราษฎรเป็นผู้ดำเนินการเอง ดังนั้นฟาร์มตัวอย่างจึงเป็นแหล่งผลิตอาหาร เป็นแหล่งให้การศึกษาข้อมูลการดำเนินงานฟาร์มที่เหมาะสมแก่ราษฎรในพื้นที่ โครงการ ตลอดจนเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้เพื่อรักษาสภาพป่าให้คงความสมบูรณ์ ไม่ถูกทำลาย และช่วยอนุรักษ์สภาพต้นน้ำลำธารธรรมชาติ ให้เกิดความชุ่มชื้นแก่พื้นดิน และป่าไม้ รวมทั้งมีการจัดตั้งธนาคารข้าวสำรองไว้ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนในบางฤดูกาลด้วย โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริบ้านขุนแตะ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นฟาร์ม ตัวอย่างอีกแห่งหนึ่งที่เกิดขึ้นจากพระเมตตาของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรม- ราชินีนาถ ที่มีพระราชประสงค์จะยกระดับความเป็นอยู่ของราษฎรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นในทุก ๆ ด้าน ส่งผลไม่ให้มีการบุกรุกทำลายป่าและสัตว์ป่าอีกต่อไป นับเป็นพระมหา- กรุณาธิคุณแก่ราษฎรในชนบทเป็นอย่างยิ่ง.

ตอนที่ 82

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2547 กรมประชาสัมพันธ์ในนามคณะกรรมการ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ การจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม 2547 ได้นำ สื่อมวลชนเดินทางไปเยี่ยมชมโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่บ้านนาศิริ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการ ที่หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 32 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนารับผิดชอบ โดยพิจารณา นำแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในการแก้ไขปัญหาให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างเกื้อกูลกันมาใช้ พื้นที่บ้านนาศิริเป็นพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำปิงในเขตพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติเชียงดาว ราษฎร ที่อาศัยอยู่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่ามูเซอ ประกอบอาชีพทำไร่เลื่อนลอยมาเป็นเวลานาน ส่งผลให้ป่าไม้ต้นน้ำลำธารในบริเวณดังกล่าว ถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก โครงการหมู่บ้านป่าไม้ แผนใหม่บ้านนาศิริ จึงมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนและปลูกจิตสำนึกให้มีความรู้ความเข้าใจในคุณประโยชน์ของป่าจนสามารถอนุรักษ์ฟื้นฟูและใช้ประโยชน์จากป่าได้อย่าง มีประสิทธิภาพ.

ตอนที่ 83

การดำเนินงานในโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่บ้านนาศิริ อันเนื่องมาจาก พระราชดำริ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เกิดขึ้นโดยได้น้อมนำแนวทางพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคือ"ให้คนอาศัยอยู่กับป่า ทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และดำรงชีพด้วยการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และแนวพระราชดำริ ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ คือ "ให้คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างพึ่งพาอาศัยกัน คนดูแลสัตว์ป่า ป่าเป็นที่อยู่อาศัย และเป็นแหล่งอาหาร แหล่งยารักษาโรคให้กับคน ในชุมชน มาใช้ โดยมีแผนงานพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ และแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับราษฎรเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการปลูกป่า มีการอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่ลาดชัน การปรับพื้นที่เป็นขั้นบันได เสริมด้วยการปลูกหญ้าแฝก การสร้างฝายย่อย และการสร้างป่าไม้เป็นแหล่งอาหารและยารักษาโรคให้เพียงพอต่อความเป็นอยู่ของชุมชน นอกจากนั้นยังมุ่งให้ราษฎรรู้จักการประกอบอาชีพ เช่น ปลูกผักสวนครัว บำรุงพันธุ์สัตว์ และปลูกพืชสมุนไพร รวมทั้งให้เด็กชาวไทยภูเขาในพื้นที่ได้รับการศึกษาภาคบังคับ และเรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีของไทย อีกด้วย.

ตอนที่ 84

จากแนวพระราชดำริ ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกล และทรงเข้าพระราชหฤทัยอย่างลึกซึ้งในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ การแก้ปัญหาให้คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืนโดยเกื้อกูล ซึ่งกันและกัน เป็นที่มาของการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาคุณภาพชีวิต ในโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่บ้านนาศิริ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้วยการดำเนินงานในการจัดการให้คน สัตว์ และป่า อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน เป็นการแก้ปัญหาเพื่อฟื้นฟู และอนุรักษ์ป่าผืนนี้ให้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์เยี่ยงอดีต ด้วยมือของชาวบ้านเอง ซึ่งนับเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ แม้การดำเนินงานจะผ่านไปเพียงระยะเวลาไม่นานนัก แต่ทุกวันนี้ชาวบ้านนาศิริ หมู่ 2 ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ต่างยอมรับและเชื่อมั่นในแนวพระราชดำริ โดยลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง และมองเห็นถึงผลสำเร็จที่จะ ตามมาในอนาคต นั่นคือการคืนผืนป่าสู่บ้านนาศิริและนำวิถีชีวิตของชุมชนบนภูเขาสูงเข้าสู่วิถีแห่งความสมดุล ระหว่างคนกับป่าตลอดไป

  • พระบารมีปกเกล้าชาวไทยภูเขา
  • ธ นำเรารู้ค่าพนาสรรค์
  • ให้คน-ป่า พึ่งพาอาศัยกัน
  • ผลอนันต์นำให้ไทยสราญ

ตอนที่ 85

จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดชายแดนภาคเหนือ มีพื้นที่ติดต่อกับสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า ปัญหาที่สำคัญของจังหวัดคือการบุกรุกป่า ทำไร่เลื่อนลอย และปัญหายาเสพติดที่ส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงตระหนักว่า การฟื้นฟูป่าไม้และแหล่งต้นน้ำลำธารอย่างถูกวิธีจะสามารถเกื้อกูล ให้เกิดระบบนิเวศน์ได้อย่างสมบูรณ์ จึงมีพระมหากรุณาธิคุณกำหนดให้บ้านปางตอง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ดำเนินโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ มีลักษณะ เป็นศูนย์สาธิตและถ่ายทอดความรู้ กิจกรรมการเกษตร การประมง และกิจกรรม ด้านความมั่นคง เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2547 กรมประชาสัมพันธ์ในนามคณะกรรมการ ฝ่ายประชาสัมพันธ์การจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม 2547 ได้นำ สื่อมวลชนไปเยี่ยมชมศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตองตามพระราชดำริ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีกองทัพบก โดยกองทัพภาคที่ 1 และกองทัพภาคที่ 3 ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ ดำเนินงานสนองพระราชดำริ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อราษฎรเสมอมา.

ตอนที่ 86

พุทธศักราช 2543 เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนิน ณ เรือนประทับแรมปางตอง บ้านนาป่าแปก ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ทรงพระราชปรารภแสดงความห่วงใยในสภาพแวดล้อม ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมถึงปัญหาการขาดแคลนอาหารอันเนื่องมาจากการที่มีประชากร เพิ่มมากขึ้น ด้วยทรงตระหนักว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีพื้นที่ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ ตามธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ สัตว์ป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือแหล่งน้ำที่มีน้ำอยู่ตลอดปี นอกจากนั้นยังทรงทราบข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติว่า ในอนาคตโลกของเราจะประสบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น จึงมีพระราชประสงค์ให้ทำการเกษตรในพื้นที่ จังหวัดแม่ฮ่องสอนแบบหลากหลายและเหมาะสมกับสภาพของพื้นที่ โดยการจัดเป็นพื้นที่สาธิตบริเวณใกล้ศูนย์ปางตองให้เป็นแหล่งสะสมอาหารตามธรรมชาติ หรือ Food Bank เพื่อให้คนและสัตว์ได้บริโภค สำหรับในส่วนที่เป็นที่อยู่อาศัยหรือแหล่งชุมชนก็ให้ส่งเสริม การเพิ่มผลผลิตทางด้านการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ และการประมง โดยกระบวนการทั้งหมด มุ่งหวังให้คนรักป่า และอยู่กับป่าได้อย่างมีความสุขนั่นเอง

ตอนที่ 87

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้มีพระราชกระแสรับสั่งในสาระสำคัญเกี่ยวกับธนาคารอาหารชุมชน หรือ Food Bank ไว้หลายประการ อาทิ ต้นไผ่ เป็นไม้ ที่สวยงาม มีประโยชน์หลากหลาย เป็นไม้ที่โตเร็ว สามารถนำไปใช้สอยได้รวดเร็ว และมี พระราชประสงค์ให้ขยายพันธุ์สัตว์ เช่น กบ เขียด ไก่ป่า คืนสู่ธรรมชาติให้มากที่สุด เนื่องจากสัตว์เหล่านี้ สามารถอาศัยอยู่ในป่าไผ่ และเป็นอาหารได้ นอกจากนั้นยังทรงให้ส่งเสริม เลี้ยงสัตว์ชนิดที่สามารถอาศัยอยู่บนพื้นที่สูง เช่น ปลาไน และมีพระราชประสงค์ให้ดำเนินการเป็นอันดับแรก ประการต่อมาคือมีพระราชดำริให้ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่สูง โดยเฉพาะสัตว์ขนาดเล็ก เช่น สัตว์ปีก และประการสุดท้าย มีพระราชประสงค์ให้ปลูกและขยายพันธุ์ไม้ผล หรือต้นไม้ป่าที่สามารถรับประทานได้ในป่า เช่น มะม่วงป่า ขนุนป่า เนื่องจากมีอยู่ดั้งเดิม ตามธรรมชาติ ทนทานและไม่ต้องดูแลรักษามาก โครงการธนาคารอาหารชุมชนตามพระราชดำริ จึงได้เริ่มดำเนินการแห่งแรกที่บ้านนาป่าแปก ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งแต่เดือนมีนาคม พุทธศักราช 2543 เป็นต้นมา ผลการดำเนินโครงการเป็นที่พอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง และทรงให้ยึดถือเป็นต้นแบบในการพัฒนาและขยายผล ต่อไป

ตอนที่ 88

โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรม- ราชินีนาถ เป็นพระราชกรณียกิจที่ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิต ของประชาชน โดยมีพระราชประสงค์ให้ประชาชนเหล่านั้นเรียนรู้วิธีการทำงาน ซึ่งเป็น การปฏิบัติงานที่นอกจากการใช้แรงงานแล้ว ยังได้ฝึกปฏิบัติในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมไปพร้อมกันด้วย นับเป็นการเรียนรู้ที่ได้จากการปฏิบัติ ทำให้เกิดทักษะจากการทำงานโดยตรง เมื่อเรียนรู้แล้วสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้มาใช้ประกอบอาชีพในที่ดินของตนเองต่อไป เป็นการพัฒนาคนให้มีคุณภาพแบบยั่งยืน และเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา ทั้งระยะสั้นและระยะยาว กล่าวคือ เมื่อเข้ามาเป็นคนงานจะมีรายได้จากค่าแรงเป็นค่ายังชีพ และมื่อได้รับความรู้กลับไปก็จะสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ตลอดไป รวมทั้งให้ราษฎรมีความรับผิดชอบในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เป็นกลุ่ม ในลักษณะของสหกรณ์ โดยราษฎร ในหมู่บ้านเป็นคณะกรรมการดำเนินการเอง สำหรับพระราโชบายที่ทรงเน้นก็คือการเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของราษฎรในจังหวัด ให้ประชาชนได้มีอาหารคุณภาพดีบริโภค ไม่ต้อง สั่งซื้อจากนอกพื้นที่ ช่วยให้เงินหมุนเวียน และทำให้เศรษฐกิจชุมชนดีขึ้น นับเป็นพระมหา- กรุณาธิคุณล้นพ้นที่ได้พระราชทานฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริให้ประชาชนได้เรียนรู้วิธีการประกอบอาชีพเกษตรกรรมอย่างถูกต้องต่อไป

ตอนที่ 89

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือราษฎรผู้ยากไร้ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รับสั่งว่า จะต้องทำให้คนไทยมีโอกาสเล่าเรียนให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถึงแม้จะช่วยแล้วเขายังไม่สามารถที่จะเรียนสูงในระบบ แต่เมื่อเขาอ่านออกเขียนได้ก็ยังพอหาเอกสารที่เกี่ยวกับการทำมาหากินและการดำเนินชีวิตในโลกสมัยใหม่ที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วนี้ส่งให้เขาได้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล่าไว้ในหนังสือ "สมเด็จแม่กับการศึกษา ความตอนหนึ่งว่า "…บางทีก็รู้สึกสงสัยว่า มีคนโน้นคนนี้มาหาท่านด้วยปัญหาที่เจ้าตัวเขาแก้ไม่ตก หรือเสด็จพระราชดำเนินออกไปเยี่ยมราษฎร ยิ่งมีปัญหามาก ท่านนึกออกมาได้อย่างไรว่า ควรจะทำอย่างไรดีกับคนไหน หรือหมู่บ้านไหน…สมเด็จแม่รับสั่งว่า ถ้าเรามีความรัก ความห่วงใยจริง ๆ ก็ย่อมทำได้ พระราชหฤทัยแน่วแน่ที่จะช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร เป็นที่ประจักษ์ในใจของคนไทยทุกคนเสมอมา.

ตอนที่ 90

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงทุ่มเทอุทิศกำลังพระวรกาย และทรงเสียสละทุกอย่างเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของราษฎร แม้ว่าจะทรงเหน็ดเหนื่อย กับการงานเพียงใด แต่ไม่เคยทรงท้อถอยหรือว่าหมดกำลังพระทัย ทรงกำหนดและส่งเสริม โครงการต่าง ๆ ในระดับหมู่บ้านตามชนบท เพื่อช่วยให้สตรีชนบทสามารถช่วยเหลือครอบครัวให้มีความเป็นอยู่ที่ดีและมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย โครงการศิลปาชีพที่มีอยู่ตามท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศ ก็เพื่อให้ชาวนา ชาวไร่มีอาชีพหัตถกรรมเป็นอาชีพเสริมเพิ่มพูนรายได้ โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศดังแต่ก่อน ทรงคำนึงถึงวัตถุดิบที่มีอยู่ในแต่ละท้องถิ่นเป็นสำคัญ ทรงคัดเลือกสมาชิกจากครอบครัวราษฎรที่ยากจนและมีบุตรมากโดยไม่จำกัดอายุ ไม่จำกัด คุณวุฒิ จำกัดอยู่อย่างเดียวคือความยากจนและความเดือดร้อน ขณะที่เข้าฝึกในโรงศิลปาชีพสวนจิตรลดา ผู้รับการฝึกจะได้รับเบี้ยเลี้ยงตามความสามารถของแต่ละคนและปรับขึ้น เป็นเงินเดือนในที่สุด จึงไม่ต้องกังวลในเรื่องการมาเรียนแต่ไม่มีรายได้เลี้ยงครอบครัว นอกจากนี้ยังจัดให้นักเรียนศิลปาชีพได้ไปทัศนศึกษาตามสถานที่สำคัญ ๆ ในประเทศ ไปดูนิทรรศการ และฟังบรรยายเรื่องต่าง ๆ เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้อีกด้วย.

ตอนที่ 91

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรือง และเป็นพลังสำคัญในการรวมประชาชนให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ทรงกระตุ้นและส่งเสริมทั้งข้าราชการและประชาชนทั่วไปให้จัดทำและปฏิบัติตามโครงการเพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศชาติ ในหลายกรณีก็ทรงเป็นผู้จัดทำโครงการเสียเอง และทรงชักชวนให้ผู้อื่นมาร่วมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงเป็นขัตติยนารีที่ทุกคนยอมรับและเชื่อมั่น เมื่อพระองค์ทรงกระตุ้นหรือส่งเสริมกิจการใดกิจการนั้นก็เจริญก้าวหน้า เพราะมีบุคคลหลายฝ่ายหลายอาชีพมาช่วยกันทำอย่างจริงจัง ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะทรงดำรงตำแหน่งเป็น "สมเด็จพระบรมราชินีนาถ แต่เพียงอย่างเดียวหากแต่ทรงพระปรีชาสามารถ รู้คุณสมบัติของบุคคลแต่ละคนจึงทรงจัดหางานให้เหมาะสมกับความรู้ความสามารถและตรงกับความสนใจของแต่ละคนได้เสมอ ทรงมีเสน่ห์และคุณสมบัติที่โน้มน้าวดึงดูดจิตใจคนให้มี ความประสงค์จะร่วมทำงานถวาย ด้วยทรงตระหนักดีว่า การพัฒนาประเทศเพื่อยกฐานะ ความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมให้ดีขึ้นนั้น จะต้องได้รับความร่วมมือความสามารถและสติปัญญาจากประชาชนทุกคน ประเทศชาติจึงจะเจริญก้าวหน้าและพัฒนาต่อไปได้.

ตอนที่ 92

สิ่งที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพบเห็นอยู่เสมอขณะเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรในชนบททั่วทุกภาคของประเทศ ก็คือความยากจน การเจ็บไข้ได้ป่วย และความเป็นอยู่ที่ด้อยมาตรฐานของประชาชน จึงทรงช่วยเหลือโดยมีแนวพระราชดำริในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุก ๆ ด้าน เพื่อเป็นพื้นฐานของการพัฒนาตนเอง ด้านการศึกษาได้พระราชทานโครงการการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบให้กับประชาชน ในชนบท โดยแต่ละปีจะพระราชทานทุนการศึกษาให้เยาวชนผู้ยากจนได้เข้าศึกษาในระบบ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงอุดมศึกษา ด้านการสังคมสงเคราะห์เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปที่ใด ก็จะมีสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีวิตสำหรับพระราชทานให้ชาวบ้านที่ยากจน หากทรงทราบว่า ผู้ใดตั้งใจจะประกอบอาชีพโดยสุจริต แต่ขาดเงินทุนในการดำเนินการก็จะพระราชทานเงินทุนสำหรับดำเนินการในขั้นต้น การพัฒนาอาชีพซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเสริมให้ประชาชน มีคุณภาพชีวิตที่ดีนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้ทรงสนับสนุนแก่เกษตรกร ในทุก ๆ ด้านเพื่อให้เขาเหล่านั้นมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วยการแนะนำให้เกษตรกรมีอาชีพเสริม ตามทักษะความสามารถและพัฒนาได้ดียิ่งขึ้น พระราชกรณียกิจที่พระราชทานความช่วยเหลือดังกล่าวนี้ส่งผลให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดี และมีอาชีพการงานที่เลี้ยงชีวิตได้.

ตอนที่ 93

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่มาเป็นลำดับทั้งในฐานะที่เป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถของไทยและในฐานะคู่พระราชหฤทัย แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

จากการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามจังหวัดต่าง ๆ อยู่เสมอนั้น ทำให้ทรงทราบถึงการเจ็บไข้ได้ป่วยของชาวบ้านซึ่งอยู่ห่างไกลโรงพยาบาลและไม่มีผู้ช่วยเหลือ ดูแลให้ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างถูกต้อง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กองราชเลขานุการในพระองค์ติดต่อกับครอบครัวผู้ป่วย สอบถามถึงความเป็นอยู่ ความสมัครใจ ในการที่จะได้รับการรักษาพยาบาลโดยที่จะต้องทิ้งบ้านทิ้งครอบครัวชั่วระยะหนึ่ง หากผู้ป่วยและครอบครัวเต็มใจจะรับการรักษา กองราชเลขานุการในพระองค์ ฯ จะประสานกับเจ้าหน้าที่ ฝ่ายปกครองหรือตำรวจตระเวนชายแดน จัดการรับผู้ป่วยมารักษาพยาบาลในโรงพยาบาล ทั้งในส่วนภูมิภาคและในกรุงเทพมหานคร โดยทรงรับไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ พระราชทานทั้งค่าพาหนะและค่ารักษาพยาบาล ระหว่างที่คนไข้อยู่ในโรงพยาบาลจะมี ข้าราชบริพารไปเยี่ยมเยียนไต่ถามทุกข์สุขอยู่เสมอ และเมื่อคนไข้หายป่วยแล้วก็จัดให้เดินทางกลับภูมิลำเนาต่อไป

ตอนที่ 94

การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรเพื่อทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ด้วยกันของสองพระองค์นั้นจะทรงแบ่งงานกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรแหล่งน้ำ ที่ทำกินของชาวบ้าน ทรงสอบถามทุกข์สุขของชาวบ้าน และพบกับหัวหน้าครอบครัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ก็ทรงดูแลครอบครัว ของเขาคือแม่บ้านและเด็ก ๆ โดยเฉพาะด้านสุขอนามัย เพราะทุกครั้งจะทรงนำคณะแพทย์ พระราชทาน ซึ่งจะมีแพทย์ทุกแขนงทั้งแพทย์หัวใจ แพทย์สมอง แพทย์กระดูก แพทย์อายุรกรรม กุมารแพทย์ และจักษุแพทย์ ใครเจ็บไข้ได้ป่วยก็มาตรวจ คนไข้รายใดอาการไม่ดีและจำเป็นต้องตรวจอย่างละเอียดก็จะพระราชทานใบส่งตัวให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลและรักษาโดยไม่ต้องเสียเงิน บางครั้งทรงพบเด็กเล็ก ๆ ซึ่งเกิดมาหัวใจรั่ว เป็นโรคซีด โรคเลือด หรือเป็นวัณโรค พระองค์ก็จะทรงช่วยนำมารักษาในที่ที่ดีที่สุดกับหมอผู้ชำนาญโรคนั้น ๆ โดยทรงนำแม่ของเด็กมาด้วย และพระราชทานเงินไว้ช่วยครอบครัวทางบ้าน ทรงจัดให้มีคนเยี่ยมไข้ ซึ่งเป็นอาสาสมัครที่ทรงเห็นว่าไม่มีภาระทางด้านการงานก็ทรงชวนให้มาเป็นอาสาสมัครในการเยี่ยมไข้ ครอบครัวเหล่านี้.

ตอนที่ 95

คราใดที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎร หรือแปรพระราชฐานไปประทับแรมตามภูมิภาคต่าง ๆ "คณะแพทย์พระราชทาน จะตามเสด็จไปรักษาคนไข้ในที่นั้น ๆ ด้วย หากคนไข้รายใดจำเป็นต้องส่งตัวเข้ารับการรักษา ในโรงพยาบาลก็จะรับไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ทรงมีแนวพระราชดำริในการพัฒนาสาธารณสุขขั้นมูลฐานในหลายรูปแบบและหลายด้าน เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องสาธารณสุขขั้นมูลฐานอย่างกว้างขวาง และสามารถป้องกันหรือช่วยเหลือ ตัวเองได้ในระดับหนึ่ง ยังผลให้เกิดโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการหมอหมู่บ้าน ซึ่งเป็นการคัดเลือกประชาชนในหมู่บ้านเข้ารับการอบรมในเรื่องสาธารณสุขขั้นมูลฐาน เพื่อให้บุคคลเหล่านี้ ได้กลับไปช่วยเหลือประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง สำหรับโครงการใดที่มีการดำเนินการพัฒนาแบบผสมผสาน โดยเฉพาะการจัดชุมชน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถจะพระราชทาน แนวทางการพัฒนาให้ประชาชนผู้เข้ารับการอบรมได้มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตรวมอยู่ด้วย ทั้งในแง่ของอาหารบริโภคและที่อยู่อาศัยที่ถูกสุขลักษณะ.

ตอนที่ 96

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงริเริ่มโครงการหมอหมู่บ้านขึ้น โดยทรงคัดเลือกราษฎรจากหมู่บ้านต่าง ๆ มาฝึกอบรมความรู้ทางด้านสาธารณสุขเบื้องต้นจาก โรงพยาบาลในท้องถิ่น นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดสร้าง ห้องสมุดอเนกประสงค์ขึ้นโดยพระราชทานชื่อว่า ศาลารวมใจ ส่วนหนึ่งจัดให้มีหนังสือต่าง ๆ ที่จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชน อีกส่วนหนึ่งจัดเป็นห้องปฐมพยาบาล มียาพระราชทาน และทรงให้ชาวบ้านที่ผ่านการฝึกอบรมการปฐมพยาบาลแล้ว กลับมาทำหน้าที่ผู้ดูแล ศาลารวมใจ ด้วยทรงตระหนักว่าเมื่อราษฎรมีความรู้ดี มีสุขภาพดี คุณภาพชีวิตย่อมดีขึ้น ตามลำดับ โปรดให้สร้างศาลารวมใจขึ้นในหมู่บ้านที่ห่างไกลในจังหวัดเชียงใหม่ 4 แห่ง คือ ที่บ้านขุนคง ตำบลขุนคง อำเภอหางดง ที่บ้านกาด ตำบลบ้านกาด อำเภอสันป่าตอง ที่ตำบลเขื่อนผาก อำเภอพร้าว และที่วัดจันทร์ ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอแม่แจ่ม เฉพาะศาลารวมใจวัดจันทร์นี้ทรงเห็นว่าอยู่ไกลและไม่มีสถานีอนามัย เนื่องจากราษฎรส่วนใหญ่เป็นชาวกระเหรี่ยงไม่ค่อยรู้ภาษาไทย ภายในศาลารวมใจจึงมีเฉพาะหนังสือสำหรับเด็ก หนังสือทางเกษตร และแผ่นภาพแนะนำด้านอนามัยความรู้ทั่วไป ส่วนใหญ่จะให้บริการ ทางด้านอนามัย โดยมียาพระราชทานและอุปกรณ์ทำแผล ปัจจุบันนี้ยังมีศาลารวมใจ วัดพระพุทธ ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ ที่จังหวัดนราธิวาสอีกแห่งหนึ่งด้วย.

ตอนที่ 97

ขณะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในต่างจังหวัด เมื่อทรงพบคนไข้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะทรงพาไปส่งให้แพทย์หลวงรักษาและทรงรับไว้ เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ซึ่งมีอยู่ในหลายโรงพยาบาลที่กรุงเทพมหานคร เช่น โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี สถาบันอายุรศาสตร์เขตร้อน โรงพยาบาลเด็ก โรงพยาบาลประสาท และสถานปราบวัณโรค โดยทางกองราชเลขานุการในพระองค์ ฯ จะรวบรวมรายชื่อผู้ป่วยแยกประเภทไว้และติดต่อกับโรงพยาบาลต่าง ๆ เพื่อนัดหมายนำตัวคนไข้ไปส่งเมื่อมีเตียงว่างแล้ว นอกจากนี้ยังทรงให้ การช่วยเหลือดูแลในเรื่องต่าง ๆ เช่น จะพระราชทานของใช้ส่วนตัว สบู่ ยาสีฟัน ผ้าขนหนู ฯลฯ สำหรับคนไข้ที่เป็นเด็กซึ่งมีแม่ตามมาเฝ้าก็จะพระราชทานค่าอาหารแก่แม่ของเด็กด้วย คนไข้รายใดที่อ่อนเพลียต้องการการบำรุงจะมีโอวัลตินและนมกระป๋องพระราชทาน คนไข้ที่ต้องผ่าตัดก็จะพระราชทานพยาบาลพิเศษเฝ้าในวันที่จำเป็นตามที่โรงพยาบาลจะพิจารณาขอมา

น้ำพระราชหฤทัยอันเปี่ยมด้วยพระเมตตานี้ยังความปลาบปลื้มแก่ผู้เจ็บไข้ได้ป่วยในพระบรมราชานุเคราะห์ทุกคน พวกเขาต่างสำนึกว่าสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรม- ราชินีนาถคือผู้พระราชทานชีวิตใหม่แก่เขา หากไม่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณนี้ ก็จะไม่มีชีวิตอยู่กับครอบครัวต่อไปได้.

ตอนที่ 98

ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามหมู่บ้าน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โปรดที่จะเสด็จเข้าไปเยี่ยมถึงในบ้าน เพื่อทอดพระเนตรความเป็นอยู่ ของเขาเหล่านั้นด้วย จะประทับซักถามทุกข์สุขของราษฎรแบบกันเอง ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ราษฎรที่ยากไร้และทุพพลภาพ บางครั้งทรงบันทึกประวัติและสิ่งที่ควรปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือบุคคลเหล่านั้นด้วยพระองค์เอง และเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงที่ประทับแรมจะทรงสั่งให้ดำเนินการช่วยเหลือบุคคลนั้น ๆ ในทันที ถ้าเป็นคนไข้หนักจะทรงพิจารณาเรื่องแพทย์ที่จะ ทำการตรวจรักษา และพระราชทานพระราชานุเคราะห์ ทรงติดตามผลจนราษฎรที่เป็นคนไข้นั้นหายป่วย ก็จัดให้เดินทางกลับภูมิลำเนาโดยเรียบร้อย สำหรับคนไข้ที่โรงพยาบาลจำหน่ายออกให้กลับได้แต่ยังต้องได้รับการตรวจทุกสัปดาห์ตามคำสั่งแพทย์ จะมีบ้านพักซึ่งโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้นในที่ดินของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในซอยวัดสุคันธาราม ตรงข้ามสถานีตำรวจดุสิต เป็นตึกสามชั้น มีแม่บ้านและผู้ดูแลคนไข้ มีรถนำคนไข้ไปรับการตรวจ ตามกำหนด และมีอาหารพระราชทาน และที่บ้านพักคนไข้นี้เองก็จัดให้มีบ้านพักของญาติคนไข้ที่ตามมาเยี่ยมเยียนดูแลอาการด้วย คนไข้รายใดพลัดบ้านพลัดเมืองมา ไม่มีญาติมาดูแล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ข้าราชบริพารจัดเวรกันไปเยี่ยมทั่วถึงทุกโรงพยาบาล เพื่อเป็นกำลังใจแก่เขา พูดจาไต่ถามความต้องการของเขาเปรียบเสมือนญาติไปคอยเอาใจใส่ดูแลอย่างทั่วถึง.

ตอนที่ 99

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลด้านการสังคมสงเคราะห์มาโดยตลอด ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปทุกหนทุกแห่งไม่ว่าจะเป็นท้องถิ่นทุรกันดารเพียงใด ทำให้ทรงทราบถึงทุกข์สุข ปัญหาต่าง ๆ ของราษฎร เมื่อเสด็จ พระราชดำเนินไปที่ใดจะทำให้สามารถช่วยเหลือได้ทันท่วงที ถ้าราษฎรกราบบังคมทูลแล้ว ก็จะทรงช่วยเหลือจริง ๆ เขาเหล่านั้นจึงมีความเชื่อมั่น ศรัทธา มีความรักในพระองค์ท่าน ทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินไปแล้วทรงสัญญาอะไรไว้กับเขา ก็จะทรงทำให้เสมอ กล่าวได้ว่า ไม่มีช่องว่างระหว่างพระองค์กับราษฎร เขาจะกราบบังคมทูลทุกเรื่องและจะพูดภาษาง่าย ๆ ไม่ต้องใช้ราชาศัพท์ เขาเจ็บเขาก็กราบบังคมทูล คนที่บ้านเขาเจ็บก็จะกราบบังคมทูล บางราย ลูกป่วยหนัก ลูกพิการต้องอุ้มลูก ป้อนข้าวป้อนน้ำ บางรายลูกปัญญาอ่อนซึ่งเกิดจากการที่ แม่ขาดสารอาหารก็มี เมื่อทรงทราบก็จะทรงช่วยเหลือทุกราย บางคนที่พิการ เช่น ตาบอด ก็จะทรงสัมผัสด้วยพระหัตถ์ มีพระราชดำรัสถามอาการและการรักษาพยาบาลด้วยความห่วงใย ยังความปลื้มปีติอย่างใหญ่หลวงแก่ผู้เจ็บไข้ได้ป่วยเหล่านั้นเป็นที่สุด.

ตอนที่ 100

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับคนไข้ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์เป็นจำนวนมาก จึงทรงตั้งแผนกคนไข้ในกองราชเลขานุการในพระองค์ ฯ ขึ้นแผนกหนึ่ง คนไข้ส่วนใหญ่เป็นโรคที่ต้องรักษานาน ๆ และเป็นโรคที่ต้องใช้เงินในการรักษามาก ๆ ด้วยทรงตระหนักว่าประชาชนผู้เจ็บไข้ได้ป่วยเหล่านี้ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เพราะการจะไปรักษาที่โรงพยาบาลนั้นต้องมีค่าใช้จ่ายทั้งค่ารถ ค่ายา ยิ่งถ้าเป็นโรคที่ต้องรักษานาน ๆ หรือมี อาการหนัก ค่าใช้จ่ายจะสูงมาก ทรงบำเพ็ญพระราชภารกิจนี้อย่างกว้างขวาง ทรงช่วยเหลือราษฎรที่เจ็บไข้ได้ป่วย พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ในการรักษาพยาบาลปีละ หลายพันคนโดยทรงใช้จ่ายจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทั้งสิ้น มีพระราชเสาวนีย์ให้นางสนองพระโอษฐ์และเจ้าหน้าที่กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ตลอดจน อาสาสมัครที่มาร่วมปฏิบัติงานถวายช่วยกันดูแลราษฎรที่เจ็บป่วยนี้อย่างใกล้ชิด และให้ปฏิบัติต่อราษฎรที่ป่วยไข้เสมือนญาติ ทรงพิถีพิถันในการเลือกผู้เยี่ยมไข้ เพราะไม่โปรดให้ไปแสดงท่าทีรังเกียจว่าคนเหล่านั้นเป็นคนชนบท หรือรังเกียจในโรคภัยที่เขาเป็นอยู่.

ตอนที่ 101

พระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงรับเด็กน้อย จากแม่มาอุ้มไว้ในอ้อมพระกร ก่อนส่งแม่เด็กให้แพทย์หลวงตรวจรักษา หรือพระฉายาลักษณ์ ที่ทรงช่วยแพทย์หลวงหยอดตาให้คนไข้ ตลอดจนพระฉายาลักษณ์ที่ทรงจูงหญิงชราไปพบ แพทย์หลวงเป็นภาพที่ข้าราชบริพารผู้ตามเสด็จ และราษฎรที่มารอรับเสด็จเห็นจนเจนตา กล่าวกันว่าสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงเป็น "พระราชินี ที่ทรงมีพระราชหฤทัยอ่อนโยนและมีเมตตาอยู่เปี่ยมล้นยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือน เหล่าราษฎรทั่วทุกถิ่นต่างเทิดทูนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถว่าเป็นดั่ง "แม่ พระองค์เปรียบเสมือนหยาดน้ำฝน ที่โปรยปรายความชุ่มชื่นเย็นฉ่ำให้แก่ผู้ยากไร้ ทุกข์สุขที่มีอยู่ในใจของราษฎรนั้น ทรงพร้อมเสมอที่จะรับฟังและพระราชทานความช่วยเหลือ บางรายลูกป่วยหนักทำให้เขาทำอะไรไม่ได้ เพราะต้องดูแลลูก บางรายลูกเป็นโรคหัวใจ เป็นโรคเลือด บางรายลูกพิการต้องอุ้มลูกป้อนข้าวป้อนน้ำ บางรายปัญญาอ่อนก็มี ราษฎรที่เดือดร้อนเหล่านี้จะอุ้มลูกมานั่งคอยเพื่อที่จะขอให้ ทรงช่วย ก็จะทรงรับฟังปัญหาและพระราชทานความช่วยเหลือเท่าที่จะทรงช่วยได้เสมอ.

ตอนที่ 102

…ในปัจจุบันนี้การได้เข้าใกล้ชิดประชาชนเป็นสิ่งสำคัญยิ่งเพราะทำให้ได้รู้ ได้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่ ทุกข์สุขของเขาที่อาจเป็นอีกอย่างหนึ่งซึ่งคนในเมืองเช่นเราไปไม่ถึง ข้าพเจ้าได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปเยี่ยมราษฎรมาทั่วทุกภาค มีโอกาส ได้ทราบว่าความทุกข์ยากอย่างหนึ่งของประชาชน คือ ความเจ็บไข้ได้ป่วย…"

…ข้าพเจ้าได้เห็นคนเจ็บด้วยโรคต่าง ๆ เป็นอันมากอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน บางครั้งบางคราวก็ได้เห็นคนที่มีร่างกายและอวัยวะพิกลพิการมากอย่างที่ไม่เคยคาดคิดว่า จะเป็นไปได้ถึงเพียงนั้น…"

นี่คือพระราโชวาทของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาส พระราชทานประกาศนียบัตรผดุงครรภ์ อนุปริญญาพยาบาลและอนามัย อนุปริญญาพยาบาลและผดุงครรภ์ และอนุปริญญาสาธารณสุขศาสตร์ แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พุทธศักราช 2518

จะเห็นได้ว่าแม้วันเวลาจะผ่านพ้นไปเนิ่นนานสักเพียงใด หากแต่พระเมตตาธิคุณที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานไปยังพสกนิกรของพระองค์หาได้ลดน้อย ลงไปไม่ ผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก ผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วยยังคงได้รับความห่วงใยจากพระองค์ด้วยดีเสมอมา.

ตอนที่ 103

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชปณิธานแน่วแน่ในอันที่จะยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรให้มีฐานะพอมีพอกินในทั่วทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะราษฎรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหลายโครงการหลายรูปแบบเกิดขึ้น ณ ที่นั้น เมื่อวันที่ 17 – 19 มีนาคม 2547 ที่ผ่านมา กรมประชาสัมพันธ์ในฐานะฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ การจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม 2547 ได้นำสื่อมวลชนไปเยี่ยมชม โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ โครงการฟาร์มตัวอย่างหนองหมากเฒ่า โครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงดงยอ โครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านทรายทอง จังหวัดสกลนคร โครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านสานแว้-นาโคกกุง จังหวัดมุกดาหาร โครงการหมู่บ้านนักรบไทย และโครงการพัฒนาเฉพาะพื้นที่ป่าดงนาทาม จังหวัดอุบลราชธานี

ตอนที่ 104

จากการที่ประเทศไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างรุนแรงเมื่อพุทธศักราช 2540 ทำให้เกิดสภาวะว่างงานขึ้นเป็นจำนวนมาก และมีแรงงานบางส่วนกลับไปอยู่ในชนบทตามถิ่นฐานเดิม เพื่อทำงานรับจ้างต่าง ๆ เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีราษฎรถวายฎีกาขอความช่วยเหลือในเรื่องการประกอบอาชีพหลายราย จึงได้พระราชทานความช่วยเหลือโดยทรงให้หาพื้นที่เพื่อจัดสร้างฟาร์มตัวอย่างขึ้น ณ บริเวณหนองหมากเฒ่า บ้านนาคำ ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ใช้ชื่อว่า โครงการฟาร์มตัวอย่างหนองหมากเฒ่า ตาม พระราชดำริ จังหวัดสกลนคร" มีการดำเนินงานในลักษณะของการเกษตรแบบผสมผสาน โดยนำหลาย ๆ หลักการมาปรับใช้เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ปลอดสารพิษ ใช้ที่ดินอย่างมี ประสิทธิภาพและให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจ ทั้งนี้เป็นไปตามพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถที่จะทรงช่วยเหลือราษฎรให้มีฐานะและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนั่นเอง

ตอนที่ 105

โครงการฟาร์มตัวอย่างหนองหมากเฒ่า ตามพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร เป็นไปในหลักการของเกษตรยั่งยืนคือ ผู้บริโภคยั่งยืน ผู้ผลิตยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมยั่งยืน มีหลายวิธีได้แก่ การปลูกพืชผัก ไม้ผล ไม้ดอก ไม้ประดับ การเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลา เพาะเห็ดแบบต่อเนื่อง ที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทุกวัน การปลูกพืชต่างระดับ โดยคำนึงถึงธรรมชาติของพืชที่จะอยู่รวมกันได้ มีการนำพืชยืนต้นตระกูลถั่วและพืชที่มีคุณสมบัติในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชมาปลูก โดยนำเทคโนโลยีทางด้านอารักขาพืชมาใช้ อาทิ การใช้สารสกัดชีวภาพ การใช้กับดักแมลง การใช้พืชไล่แมลง เช่น ตะไคร้หอม เป็นต้น โครงการฟาร์มตัวอย่างหนองหมากเฒ่าตามพระราชดำริ ดำเนินการตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้มีความหลากหลายด้านชนิดอาหารมากกว่าการผลิตแต่ละชนิดในปริมาณมาก ๆ และนำการแปรรูปมาเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้สูงขึ้น ซึ่งเมื่อฟาร์มตัวอย่างหนองหมากเฒ่า ตามพระราชดำริมีเครือข่ายเพิ่มขึ้น ก็สามารถปรับให้เป็นไปตามแนวทฤษฎีใหม่ขั้นที่สองได้ในเวลาต่อมา

ตอนที่ 106

โครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงดงยอ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นเครือข่ายหนึ่งของฟาร์มตัวอย่างหนองหมากเฒ่า ตามพระราชดำริ ซึ่งคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ การจัดงานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม 2547 ได้นำสื่อมวลชนทุกแขนงไปเยี่ยมชมเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2547 ทั้งนี้สืบเนื่องจากการที่ราษฎรขอพระราชทานความช่วยเหลือในเรื่องการจัดหาที่ดินทำกินและเรื่องการทำงานต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการหาวิธีพระราชทานความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า สมควรสอนให้ประชาชนรู้จักใช้ที่ดินที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้มีผลผลิตเพียงพอเลี้ยงครอบครัวได้ โดยใช้ระบบเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาดำเนินการ

ตอนที่ 107

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใยในชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรเสมอ เมื่อทรงตระหนักในความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น จึงมีพระเมตตาให้เจ้าหน้าที่ติดต่อประสานงานกับกรมปศุสัตว์ ขอใช้พื้นที่ว่างเปล่า จำนวน 92 ไร่ ของสถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์สกลนคร บริเวณบ้านโนนสวรรค์ ตำบลพังขว้าง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร และ พระราชทานพระราชานุญาตให้หน่วยบัญชาการทหารพัฒนาเข้าดำเนิน โครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงดงยอ ร่วมกับส่วนราชการในพื้นที่ ก่อสร้างบ้านและจัดแบ่งแปลงทำการเกษตรหลังละ 2 ไร่ จำนวน 20 หลัง พร้อมสร้างระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ และเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2544 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด โครงการฯ และทอดพระเนตรบ้านตัวอย่าง สำหรับเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมให้รับจากราษฎรที่เข้าเฝ้าขอพระราชทานที่ทำกิน ซึ่งราษฎรที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเหล่านี้จะต้องผ่านการอบรมจากฟาร์มตัวอย่างหนองหมากเฒ่า ตามพระราชดำริด้วย

ตอนที่ 108

โครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงดงยอ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ อยู่ห่างจากโครงการฟาร์มตัวอย่างหนองหมากเฒ่า ตามพระราชดำริ ประมาณ 5 กิโลเมตร ราษฎรที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเข้าร่วมโครงการจะได้รับการอบรมจากฟาร์มตัวอย่างหนองหมากเฒ่า ประมาณ 3 เดือน เพื่อให้มีความรู้ทางการเกษตรและมีแนวคิดที่จะใช้พื้นที่ให้เกิดผลตอบแทนสูงสุด ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ง่ายไม่ซับซ้อน และเป็นแบบอย่างให้เกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดผลตอบแทนสูงสุดได้อย่างครบวงจร มีการปลูกผักหลากหลาย หลังบ้านเลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ เพื่อการบริโภคอย่างพออยู่พอกินโดยใช้วิธีเกษตรธรรมชาติ เป็นการรักษาสภาพแวดล้อมและดำรงวิถีชีวิตแบบถิ่นไทยอีสาน เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมเกษตรกรและทอดพระเนตรความก้าวหน้าของโครงการ ทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง พร้อมทั้งมีพระราชเสาวนีย์ให้นำโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงดงยอ ไปเป็นแบบอย่างในพื้นที่อื่นต่อไป

ตอนที่ 109

เนื่องจากพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือค่อนข้างแห้งแล้ง ราษฎรส่วนใหญ่มีฐานะความเป็นอยู่ยากจน ขาดแคลนที่ทำกิน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงทรงส่งเสริมด้านศิลปาชีพแก่ราษฎรในหลายพื้นที่ กรมประชาสัมพันธ์ ในนามคณะ-กรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ การจัดงานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม 2547 ได้นำสื่อมวลชนเยี่ยมชม โครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านทรายทอง ตำบลปทุมวาปี อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2547 ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระเมตตารับราษฎรบ้านทรายทองไว้เป็นสมาชิกในโครงการศิลปาชีพ เมื่อพุทธศักราช 2524 เนื่องจากทรงห่วงใยราษฎรเหล่านั้น และทรงชักชวนให้ราษฎรปลูกป่า ปลูกต้นไม้ เช่น ไม้แดง ไม้นนทรี ยูคาลิปตัส ต่อจากนั้น ทรง ส่งเสริมอาชีพทอผ้าไหม ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เลี้ยงโคนม จักสานลายขิด งานประดิษฐ์ปีกแมลงทับ และปักผ้า การดำเนินงานตามพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในโครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านทรายทองจนปัจจุบัน ทำให้ราษฎรมีงานทำ มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ตอนที่ 110

ในโอกาสนำสื่อมวลชนเยี่ยมชมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะสื่อมวลชนได้เดินทางไปยัง โครงการส่งเสริมศิลปาชีพ บ้านสานแว้-นาโคกกุง ตำบลกกตูม อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2547 เดิมราษฎรบ้านสานแว้มีอาชีพทำไร่มันสำปะหลังและทำนา รายได้ไม่พอกิน พุทธศักราช 2535 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงทราบถึงความเดือดร้อนของราษฎรบ้านนาโคกกุง จึงขอพระราชทานความช่วยเหลือจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และต่อมาเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2535 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงงานที่สำนักสงฆ์ภูผาผึ้ง ได้พระราชทานทุนทรัพย์เพื่อส่งเสริมอาชีพการทอผ้าไหม พระราชทานทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียน และทรงรับราษฎรที่เจ็บป่วยเป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ พร้อมทั้งพระราชทานถุงของขวัญแก่ผู้สูงอายุในหมู่บ้านสานแว้และหมู่บ้านใกล้เคียงอย่างทั่วถึง ยังความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแก่ราษฎรเป็นที่ยิ่ง.

ตอนที่ 111

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ กองทัพภาคที่ 2 ร่วมกับอำเภอดงหลวง และจังหวัดมุกดาหาร ได้ร่วมกันจัดตั้ง โครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านสานแว้-นาโคกกุง เพื่อถวายความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 12 สิงหาคม 2535 ตลอดจนเป็นการส่งเสริมอาชีพแก่ราษฎรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ให้ราษฎรใช้ที่ดินซึ่งมีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด และยังเป็นการช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้อีกด้วย

โครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านสานแว้-นาโคกกุง ตั้งอยู่ที่ตำบลกกตูม อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร มีกิจกรรมสำคัญคือการทอผ้าไหม ทอผ้าพื้นเมือง ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม งานปักผ้า จักสานและแกะสลัก ประดิษฐ์ตุ๊กตา ดอกไม้ประดิษฐ์ และทำการเกษตร เช่น ปลูกป่า ปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ส่งเสริมการเกษตรแบบพอเพียง ส่งเสริมระบบการเกษตรแบบผสมผสานตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ ปัจจุบันมีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 406 คน มีรายได้เฉลี่ยที่เกิดจากงานศิลปาชีพของสมาชิกประมาณ 3 หมื่น 4 พันบาทต่อครัวเรือนต่อปี

ตอนที่ 112

โครงการส่งเสริมศิลปาชีพ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ หมู่บ้านนักรบไทย เป็นอีกโครงการหนึ่งที่กรมประชาสัมพันธ์ได้นำสื่อมวลชนไปเยี่ยมชมเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2547 หมู่บ้านนักรบไทย เป็นหมู่บ้านที่ทหารกองหนุนผู้เสียสละเพื่อชาติพำนักอยู่และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชเสาวนีย์ให้หน่วยงานต่าง ๆ ดูแล โครงการฯ มีการอบรมการทอผ้าไหมแก่กลุ่มแม่บ้าน ช่วยให้ราษฎรมีพันธุ์สัตว์น้ำบริโภคตลอดปี และด้วยพื้นที่ของหมู่บ้านจึงเหมาะสมที่จะเป็นแหล่งผลิตอาหารตามแนวทางทฤษฎีใหม่ในการประกอบอาชีพ หมู่บ้านนักรบไทยตั้งอยู่ที่กิ่งอำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี มีกิจกรรมสำคัญหลายประการคือการทอผ้าไหม การเพาะปลูก เช่น ปลูกเผือก มะพร้าวพันธุ์น้ำหอม งาขาว เพาะเห็ด ปลูกผัก สวนครัว เช่น ถั่วฝักยาว ฟักทอง ข้าวโพดหวาน ผักบุ้งจีน ส่งเสริมการเลี้ยงไก่พื้นเมือง เลี้ยงสุกร เลี้ยงปลาดุก ปลาสวาย ปลาสวยงาม ปัจจุบันกลุ่มแม่บ้าน และสมาชิกโครงการหมู่บ้านนักรบไทย ตลอดจนราษฎรบริเวณใกล้เคียงมีอาชีพเสริมเพิ่มรายได้แก่ครอบครัว และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ตอนที่ 113

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2541 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จ พระราชดำเนินไปยังบ้านโนนสวรรค์ ตำบลนาโพธิ์กลาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี มีพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า

………มาที่นี่ได้ความรู้ แต่เดิมมีความกังวลว่าประชาชนที่ช่วยกันรักษาป่า และปฏิญาณว่าจะไม่ตัดไม้ทำลายป่า จะอยู่กันอย่างไร เมื่อมาเห็นโครงการนี้แล้ว รู้สึกมีความสบายใจที่ได้เห็นประชาชนมีอาหารรับประทาน โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก อยากให้นำไปทำให้กับหมู่บ้านอื่น ๆ ด้วย เพื่อให้ราษฎรได้มีอาหารรับประทานอย่างพอเพียง…."

พระราชดำรัสดังกล่าวเกิดจากพระราชหฤทัยห่วงใยของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในเรื่องปากท้องของราษฎรพื้นที่ป่าดงนาทาม ซึ่งครอบคลุมเนื้อที่ 55,000 ไร่ของอำเภอชายแดน 3 อำเภอ ได้แก่ อ. โขงเจียม อ.โพธิ์ไทร อ.ศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี รวม 17 หมู่บ้านให้อยู่ดีกินดีมีความสุขและรักษาป่าไว้ให้คงอยู่ตลอดไป เน้นเรื่องปากท้องของราษฎรในพื้นที่เป็นหลักโดยเฉพาะการลดต้นทุนในการทำไร่ทำนาที่สวนและเพิ่มผลผลิตด้านการเกษตรด้วยวิธีธรรมชาติ ด้วยการนำเทคนิคเกี่ยวกับจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพมาใช้แก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจให้แก่ชาวนา ชาวไร่ของหมู่บ้านพื้นที่ป่าดงนาทาม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ข้อมูลจาก :www.prd2.in.th
พระราชประวัติ พระราชินี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ชม ภาพพระราชินี รูปพระราชินี อ่าน กลอนพระราชินี ติดตาม พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส โครงการพระราชดำริ และ พระราชกรณียกิจ ของ พระราชินี
◊ เรื่องที่เกี่ยวข้อง
คําขวัญวันแม่ คําขวัญวันแม่
กลอนวันแม่ กลอนวันแม่
เรียงความวันแม่ เรียงความวันแม่
เพลงแม่ เพลงแม่
วันแม่ วันแม่
วันแม่ ดู รูปวันแม่ การ์ดวันแม่ซึ้ง ๆ คลิกรูปวันแม่ การ์ดวันแม่ซึ้ง ๆ




Valid XHTML 1.0 Transitional