พระบรมราชินูปถัมภ์ด้านนาฏศิลป์และดนตรีไทย


สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงตระหนักดีว่า ในยุคโลกาภิวัตน์หรือโลกไร้พรมแดนเช่นในปัจจุบัน การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างชาตินับวันจะเข็มข้นขึ้น คนไทยจึงต้องร่วมมือกันทะนุบำรุงวัฒนธรรมของเราซึ่งสืบทอดมาแต่อดีตอันยาว นาน มิให้ถูกกลืนไปในกระแสของวัฒนธรรม ผสมผสานนานาชาติโดยมิเหลือเอกลักษณ์อันใดไว้เลย

พระอัจฉริยภาพในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในการใช้ดนตรีและนาฏศิลป์ เป็นสื่อให้คนไทยทุกหมู่เหล่าเกิดความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมไทย และมีความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้นเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไป ทรงสนพระราชหฤทัยในการดนตรีมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงเรียนเปียโนมาตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษา เมื่อตามเสด็จพระบิดาไปประทับยังต่างประเทศ ก็ทรงเรียนเปียโนต่ออย่างจริงจังถึงขั้นที่จะเป็นนักแสดงเปียโนอาชีพ แต่ก็สนพระราชหฤทัยในดนตรีไทยด้วย ทรงพระราชสมภพในราชสกุลกิติยากร ซึ่งนอกเหนือจากได้รับราชการแผ่นดินที่สำคัญๆ แล้ว เจ้านายในราชสกุลนี้หลายพระองค์ ทรงเป็นอัจฉริยะในทางวัฒนธรรมทั้งของไทยและวัฒนธรรมตะวันออก โดยเฉพาะด้านภาษาวรรณคดีและดนตรี พลเอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ พระบิดามีความรักในวรรณคดีเป็นอย่างยิ่ง และทรงถ่ายทอดความรู้และความนิยมชมชอบนี้สู่พระโอรสพระธิดา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล่าไว้ในหนังสือเรื่อง สมเด็จแม่กับการศึกษา ความว่า

"...เมื่อข้าพเจ้าอายุได้ 6-7 ขวบ สมเด็จแม่ทรงสอนให้อ่านหนังสือวรรณคดีต่างๆ จำได้ว่าที่ง่ายและสนุกเหมาะสำหรับการเริ่มต้นก็คือเรื่องพระอภัยมณี ต่อด้วยเรื่องอื่นๆ ได้แก่ เรื่องอิเหนา และรามเกียรติ์ เป็นต้น เรื่องอิเหนาเป็นเรื่องที่โปรดมาก ทรงให้ข้าพเจ้าอ่านคัดบทกลอนต่างๆ ให้ทำให้ข้าพเจ้าท่องได้หลายตอน...

"สมเด็จแม่ทรงจำเก่งบทเพลงแปลกๆ ที่ทรงจำได้ตั้งแต่ทรงพระเยาว์บทกลอนที่ทรงเล่าว่าเด็จตาท่องให้ฟัง ก็มาสอนเราต่ออีก..

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรด เกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาพระอิสริยยศอิสริยศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินี สิริกิติ์และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปทรงปฏิบัติพระราชภารกิจในภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ด้วยพระราชอัธยาศัยที่โปรดดนตรีอยู่แล้ว ประกอบกับการที่ได้ทรงพบปะราษฎรอย่างใกล้ชิด ทำให้ทรงเข้าถึงจิตใจของคนไทยโดยทั่วไปว่า เป็นคนที่รื่นเริงแจ่มใส เจ้าบทเจ้ากลอน และกล่าวได้ว่ารักการร้องรำทำเพลงเป็นชีวิตจิตใจ จึงโปรดเกล้าโปรดหม่อมให้พระราชธิดาและข้าราชการบริพาร ตลอดจนข้าราชการในท้องถิ่นฝึกหัดการร้องรำของท้องถิ่น เช่น การเชิ้งของภาคอีสาน การฟ้อนของภาคเหนือ การเต้นรอเง็งและซำเป็งของภาคใต้ เพื่อแสดง หรือเข้าร่วมในการร้องรำอย่างเป็นกันเองกับบุคคลในท้องถิ่นในงานพระราชทาน เลี้ยง หรืองานชุมนุมใหญ่ๆ ที่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดขึ้น เช่น การชุมนุมของลูกเสือชาวบ้านจากทั่วทั้งภาค ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นนั้นมีความภาคภูมิใจในศิลปะพื้นบ้านของตน พร้อมกันนั้นก็รู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของชาติบ้านเมือง ในโอกาสเดียวกันก็โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เล่าข้าราชบริพารจัดการแสดงที่ เกี่ยวกับวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของไทย ซึ่งมีทั้งศิลปะไทยเดิม และศิลปะประยุกต์ เช่น การขับร้องโดยใช้ดนตรีไทยและดนตรีสากลประกอบการแสดง การแสดงละครประวัติศาสตร์ประกอบดนตรี เป็นต้น ทำให้ผู้ชมได้ทั้งความเพลิดเพลิน และความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมและประวัติความเป็นมาของชาติบ้านเมือง

ทรงอุปถัมภ์โขนหลวง
โขน เป็นการแสดงของหลวง ถือเป็นมหรสส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ นอกจากจะมีไว้เป็นเครื่องสำราญพระราชหฤทัยแล้ว ยังเป็นการบำรุงศิลปะของชาติให้ยั่งยืนสืบไปด้วย โขนเป็นศิลปะเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ประกอบด้วยการเต้นการรำที่มีแบบแผนเป็นมาตรฐานผู้แสดงสวมหัวโขนที่มีสีและ ลักษณะเฉพาะตัวละคร ยกเว้นตัวละครบางตัวไม่สวมหัวโขน เช่น เทวดา มนุษย์ และฤาษี เป็นต้น เรื่องที่แสดงคือ รามเกียรติ์ ซึ่งเป็นวรณคดีที่สืบทอดมาตั้แต่สมัยอยุธยา คือ รามเกียรติ์ คำฉันท์ รามเกียรติ์คำพากย์ และบทละครเรื่องรามเกียรติ์ครั้งกรุงเก่า มาถึงสมัยรัตนโกสินทร์มีบทพระราชนิพนธ์หลายฉบับที่นิยมนำมาเล่นโขน เช่น บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย บทพากย์และบทร้องพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และบทโขนที่กรมศิลปากรปรับปรุงขึ้นใหม่ตามแนวบทพระราชนิพนธ์ต่างๆ ดนตรีประกอบการแสดงใช้วงปี่พาทย์ไม้แข็ง มีการพากย์ เจรจา และขับร้องแทนบทพูดของผู้แสดงซึ่งสวมหัวโขน ร่ายรำตามบท นายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากรได้อธิบายไว้ในหนังสือ "โขน" ว่า การแสดงโขนนั้นคงจะประยุกต์มาจากการแสดงโบราณของไทยหลายอย่างคือ การเต้นแบบการเชิดหนังใหญ่ การต่อสู้แบบกระบี่กระบอง และการร่ายรำแบบละคร โขนมีหลายประเภท เช่น โขนกลางแปลง โขนโรงนอกหรือโขนนั่วราว โขนโรงใน โขนหน้าจอ และโขนฉาก ปัจจุบันนิยมแสดงโขนกลางแปลง โขนหน้าจอซึ่งปลูกโรงชั่วคราวสำหรับการแสดง และโขนฉากซึ่งแสดงในโรงละคร

ตั้ง ต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา มีการแสดงโขนในโอกาสงานพระราชพิธีสำคัญๆ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก งานสมโภชพระนคร งานสมโภชพระอาราม งานพระเมรุ เป็นต้น พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงทะนุบำรุงศิลปะการแสดงโขน โดยโปรดให้มีการฝึกหัดโขนหลวงไว้ประจำราชสำนักสืบทอดมาจนถึงสมัยรัตน โกสินทร์ การแสดงโขนเจริญรุ่งเรืองที่สุดในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่ หัว พระองค์ทรงตั้งโรงเรียนฝึกหัดโขน ละคร และดนตรีปี่พาทย์ขึ้นโดยเฉพาะในกรมมหรสพ ซึ่งต่อมาคือโรงเรียนพรานหลวง และยุบเลิกไปในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมากิจการกรมมหรสพได้โอนมาอยู่กรมศิลปากร เมื่อกรมศิลปากรตั้งโรงเรียนนาฎศิลปขึ้น จึงรวบรวมครูโขนซึ่งกระจัดการจายแยกย้ายไปประกอบอาชีพอื่นมาเป็นครูสอนโขน ตามแบบแผนโขนหลวง และฟื้นฟูการแสดงโขนขึ้นใหม่ จัดแสดงให้ประชาชนชมเป็นครั้งแรก ณ โรงละครศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2495 ผลปรากฎว่าเป็นที่สนใจชาวไทย และชาวต่างประเทศ

ตลอดระยะเวลากว่าครึ่ง ศตวรรษที่กรมศิลปากรรับสืบทอดการแสดงโขนหลวงในราชสำนักของพระมหากษัตริย์ไทย ในอดีตไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ เป็นที่เชิดหน้าชูตาของประเทศ และเป็นที่ชื่นชมของบุคคลทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศนั้น นอกจากจะจัดการแสดงโขนให้ประชาชนทั่วไปได้ชม ณ โรงละครแห่งชาติแล้ว ยังจัดแสดงโขนในงานรัฐพิธีต่างๆ ณ ท้องสนามหลวงเป็นประจำ รวมทั้งนำไปแสดงเผยแพร่ยังต่างประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือ การจัดแสดงถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในโอกาสที่ทรงรับรองพระราชอาคันตุกะอย่างเป็นทางการ และส่วนพระองค์ตลอดมาจนปัจจุบัน เช่น การแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ภาคสวรรค์และภาคมนุษย์โลก ในการต้อนรับเจ้าหญิงอเล็กชานดรา แห่งเคนท์ ณ หอประชุมกระทรวงวัฒนธรรม สนามเสือป่า เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2502 การแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ 3 ฉาก คือ ลักสีดา สงคราม (ยกรบ) และสีดาลุยไฟ ในการทรงรับรองสมเด็จพระเจ้ากรุงเดนมาร์ก และสมเด็จพระราชินีอินกริด ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2505 และในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนิน ณ โรงละครแห่งชาติอีกหลายครั้ง

ปัจจุบัน นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถไม่ได้เสด็จ พระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโขน ณ โรงละครแห่งชาติอีก แต่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กรมศิลปากรจัดการแสดงโขนถวาย ในการทรงรับรองพระราชอาคันตุกะ ณ ลานพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในพระบรมราชวังหลังเสวยพระกระยาหารค่ำ การแสดงมีเวลาเพียง 15-20 นาที ซึ่งกรมศิลปากรไม่สามารถจะแสดงเป็นชุดเป็นตอนให้ทอดพระเนตรได้ จึงมักจะแสดงแต่ตอนพระรามรบกับทศกัณฐ์

ต่อมาความทราบฝ่าละอองธุลีพระ บาทว่ นาฏศิลปไทยโดยเฉพาะโขนซบเซาลงเพราะประชาชนไม่ค่อนสนใจ จึงมีพระราชดำริให้มีการฟื้นฟูและอนุรักษ์ศิลปะชั้นสูงของไทยไว้ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กรมศิลปากรจัดการแสดงถวายทอดพระเนตร ในโอกาสที่ทรงแปรพระราชฐานไปประทับ ณ จังหวัดสกลนคร กรมศิลปากรจึงจัดโขนเรื่อง รามเกียรติ์ตอนนิ้วเพชร และต่อด้วยพระรามรบทศกัณฐ์ไปแสดง ณ ภูพานราชนิเวศน์ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 นับเป็นครั้งแรกที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กรมศิลปากรจัดการแสดงโขนถวายทอดพระ เนตรเป็นการส่วนพระองค์ และโปรดให้ผู้แสดงเข้าเผ้าทูลละอองธุลีพระบาทอย่างใกล้ชิด รับสั่งชมเชยว่าแสดงได้งดงาม สมควรอนุรักษ์ศิลปการแสดงไว้ และพระราชทานพระราชดำริในเรื่องเครื่องแต่งกายของโขนว่าควรจะอนุรักษ์ลวดลาย ปักไว้ควรปักให้ประณีตงดงาม เมื่อคนดูใกล้ๆ จะได้เห็นความงามของลวดลายและเมื่อได้ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า กรมศิลปากรได้รับงบประมาณประจำปีน้อยมากในเรื่องการสร้างเครื่องแต่งกาย จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 300,000 บาท ให้กรมศิลปากรนำไปปรับปรุงเครื่องแต่งกายโขนตามพระราชดำริ

ต่อมา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดการแสดงโขนถวายทอดพระเนตรอีก ครั้งหนึ่ง ในโอกาสเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ ภูพิงคราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ กรมศิลปากรได้จัดแสดงโขนตอน สำมนักขาก่อศึก ต่อด้วยศึกทูษณ์ขร ตรีเศียร จนถึงวานรพงศ์ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2547

วัน ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2547 โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดแสดงโขนถวายทอดพระเนตรในงานฉลองวันราชาภิเษก สมรส ณ วังไกลกังวล หัวหิน แสดงตอนพระรามครองเมือง และเมื่อวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2547 โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดการแสดงโขนตอนพระรามยกมหาธนูโมลี ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา

พระ มหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในครั้งนี้ นอกจากจะยังความปลื้มปิติแก่เหล่านาฎศิลปินและข้าราชการที่มีโอกาสได้เข้า เผ้าทูลละอองธุลีพระบาทอย่างใกล้ชิดแล้วยังได้รับพระราชทาน พระราชดำริใส่เกล้าใส่กระหม่อมนำไปปรับปรุงศิลปะการแสดงโดยเฉพาะเรื่อง เครื่องแต่งกาย ซึ่งนับเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ที่ชาวไทยควรจะอนุรักษไว้อวดชาวโลกว่า เปิดศิลปะการปักลวดลายด้วยดิ้นที่งดงาม นอกจากนั้ยังเป็นการบำรุงศิลปะการแสดงโขนตามจารีตโบราณอีกด้วย

นอกจาก ทรงส่งเสริมงานของกรมศิลปากร ซึ่งเป็นหน่วยงานหลัก ในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติด้านนาฎศิลป์แล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงตระหนักถึงความสำคัญของเยาวชนในการอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปะ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการแสดง ของคณะโขนธรรมศาสตร์หลายครั้ง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่เยาวชนที่มุ่งอนุรักษ์และสืบทอดการแสดงโขน ซึ่งเป็นนาฎศิลป์ชั้นสูงของไทยไว้ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน

ทรงเผยแพร่ศิลปะการแสดงของไทยสู่ต่างประเทศ

ในโอกาสที่สมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือน สาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 16-31 ตุลาคม พ.ศ. 2543 ทรงจัดการแสดงซึ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองด้านศิลปวัฒนธรรมของไทยตั้งแต่ อดีตถึงปัจจุบันพระราชทานแก่ประเทศเจ้าภาพ การแสดงทุกชุดล้วนยิ่งใหญ่สวยงามตระการตา เช่น การฟ้อนดวงเดือนตามพระราชนิยม การแสดงวิวัฒนาการเครื่องแต่งกายของคนไทยในแต่ละสมัย ตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงสมัยปัจจุบัน แสดงความประณีตงดงามในการออกแบบพัสตราภรณ์ด้วยผ้าไหมไทยของช่างไทย และการแสดงชุดกวนเกษียรสมุทร เป็นชุดที่แสดงถึงพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในการเผยแพร่ศิลปะการแสดงของไทย

ในครั้งนั้นสมเด็จพระ นางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชปรารภว่า ศิลปะการแสดงของจีนที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์และรู้จักกันแพร่หลาย คือ ศิลปะการเชิดสิงโต และการเชิดมังกร การแสดงของไทยเรานั้นมีอะไรบ้างที่พอจะเทียบเคียงกับจีนได้ เพื่อให้เห็นว่าประเทศไทยของเราก็มีการแสดงที่เก่าแก่ สีบทอดมายาวนาน และมีความสวยงามไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า คือการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ หรือการแสดงกวนเกษียรสมุทร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดหม่อมให้จัดการแสดงชุดนี้ขึ้น

การกวน เกษียรสมุทร คือ การกวนน้ำอมฤต เป็นการแสดงของไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ปรากฎหลักฐานพรรณนาไว้ในกฎมณเฑียรบาลในสมัยอยุธยาว่า มีการแสดงในพระราชพิธีอินทราภิเษก เรียกว่าชักนาคดึกดำพรรพ์ หรือ เล่นการดึกดำบรรพ์ นายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศลปากรได้อธิบายไว้ในหนังสือ "โขน" ว่า การเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ในพระราชพิธีอินทราภิเษกนั้น สันนิฐานว่า พระมหากษัตริยย์ไทยโบราณคงได้แบบอย่างมาจากขอม แม้จะไม่มีตำนานใดยืนยันชัดเจนก็ตาม เพราะปรากฏว่าที่พนักสะพานหินข้ามคูเข้าสู่นครธมทั้งสองข้างทำเป็นรูปพญานาค 7 เศียรข้างละตน มีรูปเทวดาอยู่ข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งเป็นรูปอสูรฉุดนาค ดึกดำบรรพ์ และยังพบภาพจำหลักเรื่องชักนาคทำน้ำอมฤตที่ผนังระเบียง ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของนครวัดอีกด้วย

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า เจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชนิพนธ์เล่าเรื่องการกวนน้ำอมฤตไว้ในหนังสือ บ่อเกิดรามเกียรติ์ว่า เทวดาและอสูรต้องการพ้นจากความตาย จึงชวนกันกวนเกษียรสมุทรเพื่อทำน้ำอมฤตโดยเอาเขามนทรคีรีเป็นไม้กวน พระนารายณ์ได้น้ำอมฤตไปจากเกษียรสมุทร พวกอสูรไม่มีโอกาสได้ดื่มน้ำอมฤต ก็ล้มตายในที่รบเป็นอันมาก เทวดาจึงได้เป็นใหญ่ในสวรรค์ เรื่องกวนน้ำอมฤตนี้มีผู้นำไปแต่งเป็นละครสันสกฤตประเภทหนึ่ง เรียกว่า สมวการ เป็นละคร 3 องค์จบ ใช้สำหรับเล่นเป็นบทเบิกโรงละครก่อนการแสดงเรื่องใหญ่

การแสดงชุด "กวนเกษียรสมุทร" ที่พระราชทาน ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน นับเป็นการฟื้นฟูศิลปะการแสดงโบราณของไทยขึ้นใหม่ โดยที่ไม่เคยมีหลักฐานปรากฎแน่ชัดว่าแสดงกันอย่างไร ผู้แสดงเป็นเทวดา อสูรและวานรนั้นแต่งกายอย่างไร มีดนตรีประกอบการแสดงหรือไม่ อสูรชักหัวนาค เทวดาชัดหาง วานอยู่ปลายหาย เมื่อ พ.ศ. 2181 พระเจ้าปราสาททองทรงทำพิธีลบศักราช ได้ทรงนำแบบอย่างการแสดงชักนาคดึกดำบรรพ์ในพระราชพิธีอินทราภิเษกมาทรงทำอีก ครั้งหนึ่ง ในครั้งนั้นปรากฎหลักฐานบันทึกไว้ว่า มีการ "เป่าสังข์ดุริยดนตรีพิณพาทย์ คาดฆ้องไชยเกรีนี่สนั่น ศัพท์ก้องโกลาหลทั้งพระนคร" ทำให้เราทราบว่า การเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์นั้น ใช้ปี่พาทย์ประกอบการแสดง

การแสดงพระราชทานชุดกวนเกษียรสมุทร หรือ ชักนาคดึกดำบรรพ์นี้ แสดง ณ โรงแรมไซน่า เวิลด์ ณ กรุงปักกี่ง และโรงแรมผู่ตงแชงกรีลา เชียงไฮ้ (Pudong Shangrila Shanghai) นครเชียงไฮ้ การแสดงเชิดพญานาคนั้นใช้ผู้เชิดชาย จำนวน 8 คน เชิดด้านหัว 2 คน ลำตัวถึงหาง 6 คน วิธีเชิดพญานาคใช้แบบอย่างการเชิดให้เช้ากับจังหวะเพลงที่ใช้เชิดในการแสดง การแต่งกายของผู้เชิดสวมกางเกงแนบเนื้อสีดำ นุ่งผ้าโจงกระเบนสีดำทับกางเกงสวมถุงเท้าดำคลุมน่อง 2 ชั้น ผู้เชิดเป็นศิลปินจากประเทศไทย 2 คน และนักศึกษาไทยที่กำลังศึกษาอยู่ในประเทศจีน 6 คน ร่วมแสดง ผู้ฝึกซ้อมในการเชิด คือ นายเผด็จ พลับกระสงค์ นาฏศิลปากรโดยผู้มีผู้เชี่ยวชาญด้านนาฎศิลป์ คือ นายธงไชย โพธิยารมย์ เป็นที่ปรึกษา

เทวดาชักนาค มีจำนวน 3 คน เป็นนาฎศิลปินจากประเทศไทยแต่งกายแบบการแสดงโขนตัวพระราม สวมเสื้อแขนยาวสีเขียว พระลักษณ์สีเหลือง และพระพรตสีแดง การแต่งหน้า จะแต่งแบบการแสดงโบราณ คือ รองพื้นสีขาว เขียนคิ้วดำ ทาปากสีแดงอ่อน

อสูร ชักนาค ผู้แสดงเป็นนาฎศิลปินจากประเทศไทย การแต่งกายแต่งแบบยักษ์ต่างเมืองในการแสดงโขน สวมศีรษะไมยราพ สีม่วง สวาหุสีหงส์ดินหรือสีหม้อใหม่ และสัตลุง สีเขียว

นายเผด็จ พลับกระสงค์ เป็นผู้ให้ท่ารำ และแสดงเป็นสัตลุงด้วย

การฝึกซ้อมใน ประเทศไทย ใช้ผู้เชิดนาคเสริม 6 คน ฝึกซ้อมที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จนเกิดความชำนาญ แล้วจึงไปฝึกซ้อม ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา และมีการซ้อมใหญ่ที่แต่งกายเหมือนแสดงจริงร่วมกับการแสดงชุดอื่นๆ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรเพื่อทรงพระราชวินิจฉัย

ดนตรีประกอบใช้ เพลงไทยที่มีมาแต่สมัยอยุธยาชื่อเพลง "กะระนะ" แต่บรรเลงด้วยวงดนตรีออร์เคสตราแบบสากล การแสดงชุดนี้ยิ่งใหญ่ สวยงามตระการตา เป็นที่เชิดชูเกียรติภูมิของชาติอย่างยิ่ง

เมื่อเสด็จ พระราชดำเนินกลับประเทศไทยแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานการแสดงชุดกวนเกษียรสมุทรนี้ให้คนไทยได้ชื่นชมอีก 2 ครั้ง คือ ในงานประกวดผ้าไหม ณ จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 และงานพระราชทานเลี้ยงลูกเสือ ชาวบ้าน ณ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2544

การแสดงชุด "ลาวดวงเดือน" ตามพระราชนิยม

ใน ระหว่างที่เสด็จแปรพระราชฐานไปต่างจังหวัดและมีงาน พระราชทานเลี้ยงเป็นการส่วนพระองค์นั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถมักจะโปรดให้ผู้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ขับร้องเพลงและแสดงความสามารถด้านต่างๆ ถวายทอดพระเนตร บางโอกาสก็ทรงพระกรุณาขับร้องพระราชทานด้วย ยังความปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณแก่ผู้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทโดยทั่วกัน ทรงขับร้องเพลงไทยเดิมได้อย่างไพเราะ เพลงไทยเดิมที่โปรดมากที่สุดเพลงหนึ่ง คือ เพลง "ลาวดวงเดือน" พระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยหินทโรดม พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าจอมมารดามรกฏ

เมื่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนากรม ช่างไหมขึ้นในกระทรวงเกษตราธิการ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทอผ้าไหม ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม พระราชโอรสซึ่งสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษเป็นอธิบดีคนแรก ครั้งหนึ่งกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมเสด็จประทับเกวียนไปทรงตรวจราชการภาคอีสาน ได้ทรงพระนิพนธ์เพลงที่มีท่วงทำนองไพเราะอ่อนหวาน เนื้องร้องรำพันถึงความรักความอาวรณ์ของชายหนุ่มที่ต้องจากนางอันเป็นที่รัก มาอยู่ห่างไกล ยามเมื่อมองท้องฟ้าที่มืดมิดปราศจากดวงจันทร์ทำให้หัวใจของชายหนุ่มเศร้า หมอง ทุกข์ระทมและประทานชื่อเพลงนี้ว่า " ลาวดำเนินเกวียน" เพื่อให้เป็นเพลงที่คุ่กับเพลง "ลาวดำเนินทราย" พระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิป ประพันธ์พงศ์ ซึ่งเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในหมู่นักคนตรีและผู้ฟังทั่วไป

เมื่อ เพลงลาวดำเนินเกวียนนี้เผยแพร่ออกไป ก็ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางเพราะท่วงทำนองที่อ่อนหวานไพเราะและเนื้อ ร้องที่กินใจแต่ภายหลังประชาชนนิยมเรียกเพลงนี้ว่า "ลาวดวงเดือน" อาจเป็นเพราะเนื้อร้องขึ้นต้นว่า "โอ้ละหนอ ดวงเดือนเอย" และมีคำว่า "ดวงเดือน" ซ้ำๆ กันหลายแห่งนั่นเอง

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โปรดเพลง "ลาวดวงเดือน" ไม่ใช่เพราะเป็นเพลงที่มีท่วงทำนองและเนื้อร้องไพเราะเท่านั้น แต่เพราะพระองค์ทรงระลึกถึงคุณูปการของผู้ทรงนิพนธ์เพลงที่มีต่อกิจการไหม ไทย ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงส่งเสริมเป็นศิลปาชีพแขนงแรกในมูลนิธิส่งเสริมศิลปชีพฯ มีพระราชดำรัสว่าทรงสันนิษฐานเกี่ยวกับที่มาของเพลงลาวดวงเดือนว่า กรมหมื่นพิไชมหินทโรดมนั้นคงจะ

"ไปกับสาวภูไทสวยๆ ก็ทรงมีกำลังพระทัยแต่งลาวดวงเดือนขึ้น"

โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ จัดการแสดงชุดลาวดวงเดือน ในงานพระราชทานเลี้ยงต่างๆ และให้นำการแสดงชุดนี้ไปเผยแพร่ที่ต่างประเทศด้วย เช่นในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ในฐานะผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2543

การ แสดงนาฏศิลป์ชุดฟ้อนดวงเดือนอีกแบบหนึ่งซึ่งจัดแสดงกันอยู่ในปัจจุบัน และเป็นที่นิยมแพร่หลาย การแสดงชุดนี้ กรมศิลปากรปรับปรุงขึ้นใหม่เพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาค เมื่อ พ.ศ. 2506 ในโอกาสที่พระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ แก่พระราชอาคันตุกะเป็นการส่วนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้นายมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีไทยของกรมศิลปากร จัดวงปี่พาทย์ไปบรรเลงถวาย นายมนตรี จึงเลือกเพลงลาวดวงเดือนไปขับร้อง และบรรเลงประกอบการแสดงนาฏศิลป์ ถวายทอดพระเนตรท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนีย์ ผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์ไทยของกรมศิลปากรเป็นผู้ประดิษฐ์ท่ารำ

เนื่องจาก เนื้อร้องของเพลงเป็นการรำพันถึงความรักของชายหนุ่ม ที่มีต่อหญิงสาว การแสดงฟ้อนดวงเดือนที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่นี้จึงแสดงลีลาท่ารำคู่ที่สวยงามตาม แบบนาฏศิลป์ไทยของชายและหญิง ฟ้อนดวงเดือนชุดนี้ได้จัดแสดงถวายทอดพระเนตรถึง 3 ครั้ง คือ

* ครั้ง แรก ในโอกาสทรงรับรองพระราชอาคันตุกะ คือ เจ้าขายเฟรด เดริค วิลเฮล์ม ฟรอน บรัสสัน แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ณ สวนศิวาลัย ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2506
* ครั้งที่ 2 ในโอกาสพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำแก่เจ้าชายและเจ้าหญิงฮิตาชิ ณ พระตำหนักเรือนต้น สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2508
* ครั้งที่ 3 ในโอกาสพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำแก่พระสหาย ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2509



ข้อมูลจาก www.belovedqueen.com
พระราชประวัติ พระราชินี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ชม ภาพพระราชินี รูปพระราชินี อ่าน กลอนพระราชินี ติดตาม พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส โครงการพระราชดำริ และ พระราชกรณียกิจ ของ พระราชินี
◊ เรื่องที่เกี่ยวข้อง
คําขวัญวันแม่ คําขวัญวันแม่
กลอนวันแม่ กลอนวันแม่
เรียงความวันแม่ เรียงความวันแม่
เพลงแม่ เพลงแม่
วันแม่ วันแม่
วันแม่ ดู รูปวันแม่ การ์ดวันแม่ซึ้ง ๆ คลิกรูปวันแม่ การ์ดวันแม่ซึ้ง ๆ




Valid XHTML 1.0 Transitional